การขอเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทำการจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกินของตนเองหรือผู้ที่มีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพได้ถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเองหรือมีที่ดินเกินสิทธิ จัดสรรให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยมีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เรียกว่า “ส.ป.ก. 4-01” เป็นหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยภารกิจหนึ่งของ ส.ป.ก. คือ การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีนโยบายด้านการเกษตรในการสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชนผู้เป็นเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. โดยการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ที่สามารถโอนสิทธิในที่ดินและใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น

การดำเนินการด้านกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม จัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อกำหนดรูปแบบ บทนิยาม หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข รวมทั้งปรับแก้ไขชื่อจาก “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” โดยใช้ครุฑสีเขียว และได้มีการประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย           

1) ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และ

2) ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ซึ่งระเบียบทั้งสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม 2566 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566
     

“โฉนดเพื่อการเกษตร” หมายถึง หนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน” เกษตรกรที่ประสงค์จะขอเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” จะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยนับระยะเวลาต่อเนื่องจากคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินครั้งแรก การยื่นคำขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

1) ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ผ่านศูนย์บริการประชาชน และ

2) ยื่นในระบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.alro.go.th โดย ส.ป.ก. จะออกหนังสือรับรองสิทธิการขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรไว้ให้เป็นหลักฐานจนกว่าจะมีการออกโฉนดเพื่อการเกษตร ระยะเวลาดำเนินการ ส.ป.ก. จะพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน การประกาศผลการพิจารณา ส.ป.ก. จังหวัดจะประกาศผลพร้อมแนบรายชื่อเกษตรกร เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านภายใน 15 วัน เงื่อนไขของผู้ที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรแล้ว ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนมือ สละสิทธิ หรือกระทำการอื่นใดเพื่อให้บุคคลอื่นได้รับสิทธิในโฉนดเพื่อการเกษตรแทนตนภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกโฉนดเพื่อการเกษตร เว้นแต่เป็นการจัดที่ดินแทนที่แก่คู่สมรส บุตร เครือญาติหรือทายาท แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้เพื่อทำเกษตรกรรม สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนเองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อ ส.ป.ก. จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ นอกจากนี้ การควบคุมกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบที่ดินเช่นเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ที่ดินผิดประเภท

จากข้อมูลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2566 มีเกษตรกรที่ได้รับ ส.ป.ก. 4-01 และเข้าเงื่อนไขยื่นขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิ์มีจำนวนรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวมทั่วประเทศ จำนวน 22,079,407 ไร่ โดย ส.ป.ก. มีเป้าหมายดำเนินการออกเอกสารสิทธิรูปแบบโฉนดเพื่อการเกษตรในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนภายใน 5 ปี พื้นที่นำร่องจะเริ่มจากพื้นที่ภาคกลางก่อนและจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ การเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรผู้ที่ทำประโยชน์ตามระยะเวลาได้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงสิทธิจากการได้รับการจัดที่ดิน สร้างความมั่นคงด้านที่ดินให้กับเกษตรกร ให้มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบติดตามการใช้ประโยชน์

ภาพปก