มองสถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมปี 2566 ที่ส่งผลกระทบถึงปี 2567

ผู้เรียบเรียง :
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

             ในปี 2566 มีสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมสำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้ในปีถัดไปอาจต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก World Economic Forum ปี 2022 ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ประกอบด้วยความล้มเหลวของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนสภาพอากาศแบบสุดขั้วและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนอกจากจะประสบกับปัญหาข้างต้นแล้วยังมีมลพิษสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปี 2567 มีรายละเอียด ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการที่โลกมีก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปกคลุมหนาแน่น ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา อาทิ การเกิดไฟป่ารุนแรงที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียหรือปรากฎการณ์คลื่นความร้อนบริเวณขั้วโลกใต้ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 20 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก ซึ่งจากการประชุมภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายการรักษาระดับอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องไว้สามระยะ คือ ระยะที่ 1 ในปี พ.ศ. 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และเทคโนโลยี ระยะที่ 2 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และระยะที่ 3 เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608
  2. มลพิษทางอากาศ จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจรวดเร็วส่งผลให้มีการใช้พลังงาน น้ำมัน และถ่านหินเพิ่มขึ้น ทำให้เมืองขนาดใหญ่หลายแห่งมีคุณภาพอากาศแย่ลง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในเมืองจำนวนมาก ซึ่งสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีความแห้งแล้งเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) มีผลกระทบด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศจากการแพร่กระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครจากการจราจร การเผาในพื้นที่โล่งแถบชานเมือง และสภาพอากาศปิด รวมทั้งปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือจากการเผาป่าและพื้นที่เกษตรที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
  3. ขยะทะเล ในปี พ.ศ. 2558 มีการผลิตพลาสติกทั่วโลกประมาณ 419 ล้านตัน/ปี ทำให้มีพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จากวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ระบุว่าปัจจุบันมีปริมาณพลาสติกลงสู่ทะเลปีละประมาณ 14 ล้านตัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลหากไม่มีการจัดการที่ดีจะทำให้ปริมาณพลาสติกลงสู่ทะเลเพิ่มขึ้นถึงปีละ 29 ล้านตัน ภายในปี พ.ศ. 2583 อีกทั้งทำให้เกิดการสะสมพลาสติกในทะเลได้มากถึง 600 ล้านตัน ผลที่ตามมา คือ ไมโครพลาสติกในทะเลจะมีปริมาณมหาศาล โดยในประเทศไทยจากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นรวม 11 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกปริมาณ 343,183 ตัน (0.34 ล้านตัน) และคิดเป็นขยะทะเลประมาณ 34,318–51,477 ตัน (0.03-0.05 ล้านตัน)
  4. การทำลายป่าไม้ การบุกรุกตัดไม้เพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวทำให้หน้าดินบริเวณพื้นที่ป่าถูกน้ำพัดพาอินทรียสารออกไป ไม่มีต้นไม้ยึดผิวดิน ก่อให้เกิดการพังทลายของหน้าดินและดินถล่ม ทั้งนี้ ในประเทศไทยจากข้อมูลรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 พบว่า พื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพป่าของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 มีจำนวน 102,212,434.37 ไร่ หรือร้อยละ 31.59 ของพื้นที่ประเทศ ค่อนข้างคงที่จากปี พ.ศ. 2563 ที่มีพื้นที่ป่าไม้ 102,353,484.76 ไร่ หรือร้อยละ 31.64 ของพื้นที่ประเทศ โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.138
  5. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของเมืองมีผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ได้แก่ พืช 35 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวน 20 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำนวน 38 ชนิด และจุลินทรีย์ จำนวน 14 ชนิด ขณะที่มีชนิดพืชที่มีสถานภาพถูกคุกคาม จำนวน 999 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 9.08 ของชนิดพืชที่ถูกจำแนกแล้ว ส่วนชนิดพันธุ์สัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีสถานภาพถูกคุกคามมีจำนวน 676 ชนิด และ 302 ชนิด ตามลำดับ ขณะที่การประเมินดัชนี สถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามจากข้อมูลในปี พ.ศ 2563 พบกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ลดลงจากปี พ.ศ. 2558

         จากสถานการณ์ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การผลิตสินค้า และบริการในชีวิตประจำวันของประชาชน ที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดีขึ้นหรือแย่ลงนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความตระหนัก การอนุรักษ์ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาในระยะยาวควรมีกฎ ระเบียบและนโยบายที่ทำให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงจะส่งผลให้สถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมระยะต่อ ๆ ไปดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ในอนาคตประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ภาพปก