ไทยกับชุดตรวจโรคโควิด 19 ด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit: ATK)

ผู้เรียบเรียง :
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

"โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))" เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จนสามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ พบการระบาดอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกิดการแพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้างในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

นับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 ด้วยวิธีการ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction)โดยสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด ไม่สามารถทำการตรวจได้ทันกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น จึงได้มีการอนุญาตให้นำชุดตรวจโรคโควิด 19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit: ATK) มาใช้ใสถานพยาบาลเพื่อคัดกรองเบื้องต้น และอนุญาตให้ประชาชนนำไปใช้ตรวจเชื้อด้วยตนเองที่บ้านได้อีกด้วย

ชุดตรวจโรคโควิด19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง เป็นการตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อไวรัส ประกอบด้วย ตลับทดสอบ ก้านสำลีเก็บตัวอย่าง หลอดใส่น้ำยาที่ใช้ในการตรวจ ฝาหลอดหยด และเอกสารคำแนะนำการใช้ชุดตรวจ 

วิธีการตรวจเริ่มต้นจาก

1) ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ น้ำสะอาด และเจลแอลกอฮอล์ 
2) เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งโดยใช้ก้านสำลีตามวิธีการที่ระบุไว้ในเอกสารคำแนะนำ ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างอาจแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ เช่น การป้ายบริเวณโพรงจมูก หลังโพรงจมูก ลำคอ หรือกระพุ้งแก้ม และห้ามใช้มือสัมผัสกับสำลีที่ใช้เก็บตัวอย่างเด็ดขาด
3) นำก้านสำลีใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อหมุนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอดสารละลาย โดยไม่ให้มือสัมผัสก้านสำลีหรือสารละลายโดยเด็ดขาด และ 
4) เมื่อเสร็จแล้วให้นำก้านสำลีทิ้งใส่ห่อ หยดสารละลายลงบนตลับทดสอบตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15-30 นาทีแล้วอ่านผล 

จากนั้นให้ทิ้งชุดตรวจโดยใส่ในถุงพลาสติกเขียนระบุว่า "ขยะติดเชื้อ" บนถุงให้ชัดเจน พ่นหรือราดด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว เสร็จแล้วปิดถุงให้สนิท นำไปทิ้งแยกจากขยะทั่วไป เพื่อรอนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง

การอ่านผลการตรวจถ้าบนตลับทดสอบปรากฏว่า 

1) มีแถบขึ้นที่ตัวอักษรทั้ง C และ T หมายความว่า ผลตรวจเป็นบวก ผู้ตรวจเชื้ออาจติดเชื้อโรคโควิด 19 หรือ 
2) มีแถบขึ้นที่ตัวอักษร C เพียงตัวเดียว หมายความว่า ผลตรวจเป็นลบ ผู้ตรวจเชื้อไม่น่าจะติดเชื้อโควิด 19 ในขณะที่ตรวจนี้ หรือ
3) ไม่ปรากฏแถบขึ้นที่ตัวอักษรใดเลย หรือปรากฏแถบขึ้นที่ตัวอักษร T เพียงตัวเดียว หมายความว่า ผลตรวจผิดพลาดใช้ไม่ได้ ผู้ตรวจเชื้อต้องทำการตรวจใหม่โดยใช้ชุดตรวจใหม่

ผู้ที่ผลตรวจเป็นบวกหรือ "ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย" สามารถรับยาและเข้ารับการรักษาแบบดูแลตนเองที่บ้าน (Home isolation) ได้ทันที โดยแจ้งไปยังสายด่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หมายเลขโทรศัพท์ 1330 ต่อ 14 หรือเพิ่มเพื่อนในระบบไลน์ชื่อบัญชี @nhso หรือทางเว็บไซต์ http://crmsup.nhso.go.th เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาตัว แต่ถ้ามีข้อจำกัดไม่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ จะเข้ารับการรักษาในระบบดูแลตัวเองในชุมชน (Community isolation) ศูนย์พักคอย สถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือโรงพยาบาล ตามความรุนแรงของอาการ และควรได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้ที่ผลตรวจเป็นลบควรตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อผ่านไปแล้ว 3 วัน เพื่อป้องกันผลตรวจลวง และต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขต่อไปอย่างเคร่งครัด

ชุดตรวจโรคโควิด 19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่ให้ผลตรวจที่รวดเร็ว สามารถคัดกรองผู้ที่ไม่แสดงอาการให้เข้าสู่การกักตัวได้เร็วขึ้น แต่การใช้ชุดตรวจนี้อาจให้ผลตรวจลวงได้ ถ้าเชื้อโรคโควิด 19 ในร่างกายมีปริมาณน้อย การตรวจไม่ถูกต้องตามขั้นตอน มีการปนเปื้อนระหว่างการตรวจ และชุดตรวจไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น ผู้ตรวจเชื้อจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจ ทำตามเอกสารคำแนะนำที่มาพร้อมชุดตรวจอย่างเคร่งครัด และใช้ชุดตรวจที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งมีข้อความระบุว่า "บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้" โดยหาซื้อได้จากสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ อีกทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาพปก