หนี้สาธารณะ (Public Debt)

ผู้เรียบเรียง :
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ได้สร้างปัญหาการชะลอตัวและหยุดชะงักของเศรษฐกิจในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้ความสามารถในการจ่ายคืนหรือชำระหนี้ของทั้งภาคครัวเรือนและภาคเอกชนลดลง รัฐบาลในหลายประเทศจำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าว ทั้งด้านสาธารณสุข การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ การมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้ระดับหนี้สาธารณะในแต่ละประเทศเพิ่มสูงขึ้นในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบกับประชาชนในประเทศนั้น ๆ จนยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากรัฐบาลอาจจะเพิ่มอัตราภาษีเพื่อจัดเก็บรายได้มากขึ้น และภาษีส่วนหนึ่งอาจถูกแบ่งไปชำระหนี้มากกว่าการนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ในกรณีร้ายแรงหากประเทศใดมีหนี้สาธารณะสูง ซึ่งแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ประเทศก็อาจเกิดวิกฤติถึงขั้นล้มละลายได้

สำหรับประเทศไทย  “หนี้สาธารณะ” ตามคำนิยามของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 หมายถึง หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารหนี้สาธารณะให้เป็นไปอย่างมีระบบมีประสิทธิภาพและควบคุมดูแลการก่อหนี้โดยรวมให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับฐานะการเงินการคลังของประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 สถานะหนี้สาธารณะคงค้างของไทย มีจํานวน 8,593,834.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.91 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 7,532,356.14 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 768,891.86 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทําธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 285,359.57 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,226.63 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ ร้อยละ 98.14 และหนี้ต่างประเทศร้อยละ 1.86 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด ซึ่งเมื่อแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว ร้อยละ 85.25 และหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 14.75 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมการใช้อำนาจและการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในการนำเสนอกฎหมาย การก่อหนี้ และเพื่อให้เกิดการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐให้มีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะต้องไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งไปตามกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กําหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ซึ่งออกตามความในมาตรา 11 (4) ประกอบมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

ภาพปก