พืชกระท่อม

ผู้เรียบเรียง :
วิชาญ ทรายอ่อน, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พืชกระท่อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae สาระสำคัญที่พบในใบกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นานและทนต่อความร้อนมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่ใช้พืชกระท่อมสามารถทำงานกลางแจ้งได้ทนเป็นเวลานานขึ้น โดยไม่รู้สึกเหนื่อย และบรรเทาอาการปวด

พืชกระท่อมมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย คาบสมุทรมาลายู จนถึงเกาะนิวกินีด้วย ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ประเทศไทยในภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้เรียก “ท่อมหรือท่ม” ในบริเวณคาบสมุทรมลายูเรียก “คูทุม (Kutum)” หรือ “คีทุมเบีย (Ketum Bia)” หรือ “เบียก (Biak)” ลาวเรียก “ไนทุม (Neithum)” คาบสมุทรอินโดจีนเรียก “โคดาม (Kodam)” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้พืชกระท่อมอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานในหลายประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย อาทิ ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย พืชกระท่อมที่นำมาใช้อยู่ในรูปของ ต้น ใบ ราก อีกทั้ง ในข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ (UN) ก็ไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งเสพติดหรือผิดกฎหมาย สำหรับประเทศไทยพบว่า มีการบริโภคกันมากในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย พืชกระท่อมเคยเป็นยาเสพติดให้โทษในประเทศไทย แต่บริบทดั้งเดิมนั้นพืชกระท่อมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นอกจากใช้บริโภคเพื่อช่วยให้ทำงานได้มากแล้ว ในพื้นที่ภาคใต้นั้นใช้พืชกระท่อมในการต้อนรับแขก นำมาเคี้ยวระหว่างพบปะพูดคุย เช่นเดียวกับหมากพลู การบริโภคนั้นนิยมการเคี้ยวใบสด หรือนำใบมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกเป็นอาหาร

สรรพคุณทางยาของพืชกระท่อม เป็นพืชที่ใช้เข้าเป็นตัวยาในตำรับประเภทยาแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ในแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่จะนำพืชกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาแก้ท้องร่วง รักษาโรคเบาหวาน ในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้พืชกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยา แต่การเสพพืชกระท่อมมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานานทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพได้ มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และยังพบอีกว่าการเสพพืชกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ ปัจจุบันพืชกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน โดยพืชกระท่อมสามารถนำมาทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น โดยกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียนมักนิยมนำพืชกระท่อมมาต้ม ผสมกับน้ำอัดลม ยากันยุง และยาแก้ไอ เรียกกันว่า 4×100 พืชกระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสิ่งเสพติดในประเภท 5 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญ คือ การถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พืชกระท่อมจึงเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์เมื่อใช้อย่างถูกวิธี และอาจเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเสนอร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกำหนดมาตรการกำกับดูแลการปลูกพืชกระท่อม เพื่อปรับปรุงการใช้ประโยชน์ และการกำกับดูแลพืชกระท่อมให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทย ในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุม และกำกับดูแลการเพาะหรือปลูกพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ตลอดจนการขาย การโฆษณา และการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อคุ้มครองเด็ก และเยาวชน รวมถึงบุคคลกลุ่มเสี่ยงมิให้ได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และป้องกันมิให้มีการบริโภคพืชกระท่อมในทางที่ผิด

ภาพปก