พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

ผู้เรียบเรียง :
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คนไทยใช้น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานมายาวนาน แต่เดิมนิยมใช้น้ำตาลที่ทำจากต้นตาล จึงได้ชื่อว่า น้ำตาล ซึ่งมีรสหวานมัน  แต่ต่อมานิยมใช้น้ำตาลที่ทำจากอ้อย และเรียกว่าน้ำตาลอ้อย หรือน้ำตาลทราย ตามลักษณะที่คล้ายเม็ดทรายซึ่งมีรสหวานแหลม

เมื่อ 100 ปี ที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2464 อุตสาหกรรมน้ำตาลได้ฟื้นตัวขึ้นมาเมื่อรัฐบาลได้อนุญาตให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อันเนื่องมาจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และต่อมาจึงได้ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเป็นแห่งแรกขึ้นที่จังหวัดลำปาง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2502 มีโรงงานน้ำตาลมากถึง 48 โรงงาน แต่ในช่วงเวลานั้นสถานการณ์น้ำตาลทรายของตลาดโลกเริ่มถึงจุดอิ่มตัวเพราะน้ำตาลทรายล้นตลาด ทำให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศลดต่ำลง อีกทั้งยังปรากฏว่ามีการนำเข้าน้ำตาลทรายมากเกินความจำเป็นน้ำตาลทรายที่ล้นตลาดอยู่ในขั้นภาวะวิกฤติ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย พ.ศ. 2504 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญคือ การจัดตั้ง “สำนักงานกองทุนสงเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย” ขึ้น เพื่อเรียกเก็บเงินสงเคราะห์จากผู้ผลิตตามปริมาณที่ผลิตออกมาจากโรงงานในอัตรากิโลกรัมละไม่เกิน 1 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการที่กำหนด ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือ การระบายน้ำตาลทรายด้วยวิธีการส่งออกไปต่างประเทศโดยใช้เงินสงเคราะห์เป็นเงินอุดหนุนแก่ผู้ส่งออกแต่โดยข้อเท็จจริงกลับเป็นเครื่องจูงใจให้เกิดการขยายตัวของการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายยังขาดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาระยะยาว นอกจากนี้การกำหนดราคาอ้อยโดยเสรีตามกลไกของตลาดอาจทำให้เกิดปัญหา คือ ผู้ซื้อและผู้ขายไม่สามารถกำหนดราคาตามความพอใจของตนได้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนตลอดเวลา ในขณะเดียวกันการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงก่อให้เกิดแนวความคิดที่จะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีบทบาทในระบบไตรภาคี มีผู้แทนส่วนราชการ ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลมากำหนดราคารับซื้ออ้อย และราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมถึงนำระบบแบ่งปันผลประโยชน์มาจัดสรรผลประโยชน์ตามสัดส่วนระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลดังนั้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ประกาศใช้วันที่ 27 กรกฎาคม 2527 ให้เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่การบริหารจัดการในไร่อ้อย การผลิตในโรงงานน้ำตาล และการส่งออก ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามกฎหมาย

พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีบทบัญญัติ 11 หมวด 87 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ กำหนดโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และกำหนดระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30โดยการกำหนดโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระบบไตรภาคี มีผู้แทนส่วนราชการ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ประกอบกันอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย คณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราย มีอำนาจและหน้าที่จัดระเบียบต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นการปลูกอ้อย การกำหนดราคาอ้อย การผลิตน้ำตาลทราย การจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบโควตา ตลอดจนการส่งเสริมหรือวิจัยเพื่อพัฒนาระบบอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้ามีเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 นั้น ได้กำหนดให้ผลประโยชน์ของระบบจำนวนร้อยละ 70 จัดสรรให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 จัดสรรให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล

พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ มีระบบการบริหารที่ชัดเจนและเป็นระเบียบยิ่งขึ้น สามารถผลิตน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และบริหารการส่งออกน้ำตาลทรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการกำหนดราคาอ้อยและระบบการแบ่งปันผลประโยชน์70 : 30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลก่อให้เกิดความเป็นธรรมและส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นแหล่งสร้างงานแก่ชาวไร่อ้อยและแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยในชนบทมากกว่า 600,000 คน มีการขยายโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นจำนวน 58 โรงงาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออก การจำหน่ายน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ถึงปีละกว่า 250,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 2 ใน 3 ของผลผลิตน้ำตาลทราย ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับสองของโลก จากประเทศที่นำเข้าน้ำตาลทรายจนก้าวมาสู่ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับที่สองของโลกได้ นับว่าเป็นการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจนประสบผลสำเร็จและนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศชาติต่อไป

หมายเหตุ  คำว่า “70:30” ออกเสียง เจ็ดสิบสามสิบ

ภาพปก