พืชกัญชาในทางการแพทย์

ผู้เรียบเรียง :
วิชาญ ทรายอ่อน, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“พืชกัญชา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. indica จัดเป็นพืชดอกในตระกูล Cannabaceae เป็นพืชล้มลุกมีใบเป็นแฉก 5-8 แฉก ลำต้นสูง 3-5 เมตร คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะ ๆ ออกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน มีต้นกำเนิดที่แถบเอเชียกลาง สายพันธุ์ที่พบบ่อยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) และสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) มีการปลูกในหลายพื้นที่ หลายประเทศ พืชกัญชาเป็นพืชที่มีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกกัน โดยสารสำคัญในกัญชาคือ สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) และสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydro-cannabinol-THC) มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอก 

ประโยชน์จากพืชกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน คือ การใช้รักษาในภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทส่วนกลางที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้พืชกัญชาในการคลายความวิตกกังวล เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย และช่วยลดอาการปวดข้อได้ สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะสาร THC สามารถช่วยลดอาการปวดเรื้อรัง และช่วยให้สามารถนอนหลับได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

รัฐบาลได้ส่งเสริม สนับสนุนให้ใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ และเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และมาตรา 58 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ คือ

1. ให้ตำรับยาแผนปัจจุบันและตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นตำรับที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้

2. ให้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทย โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสภาการแพทย์แผนไทย เป็นตำรับที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้

3. ให้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศภายใต้รูปแบบพิเศษของการเข้าถึงยา (Special Access Scheme) เป็นตำรับที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจยได้

4. ให้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นตำรับที่ให้เสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้

5. ให้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยปรุงขึ้นจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นตำรับที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ 

ซึ่งรายชื่อตำรับยาและที่มาของตำรับยาที่อนุญาต ได้แนบไว้ท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ หลังจากออกประกาศกระทรวงฯ สามารถนำพืชกัญชาแต่ละส่วนที่พ้นจากยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง เช่น ใบ ราก ก้าน ใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, เปลือก แกนลำต้น เส้นใยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สารสกัดใช้ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร และเครื่องสำอาง, เมล็ด หรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชา ใช้ในอาหารและเครื่องสำอาง ทั้งนี้ ประชาชนที่จะครอบครองและใช้ได้อย่างถูกต้อง จะต้องเป็นผลผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และยังไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในทางสันทนาการ

แม้พืชกัญชาให้ผลการออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่พืชกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ทำให้ร่างกาย อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ในทางการแพทย์จึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษา และ/หรือควบคุมอาการของผู้ป่วยเป็นการรักษาลำดับแรก (first-line therapy) ในทุกกรณี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการรับรองตำรับ (unapproved products) ยกเว้นในกรณีที่ได้รับข้อมูลทางการแพทย์และเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง สามารถสั่งใช้และสามารถจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมในสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน

ปัจจุบันกฎหมายยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาได้เอง อย่างไรก็ตาม สามารถรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2564 และกฎหมายอื่นที่ได้บัญญัติอย่างเคร่งครัด

การประกาศกระทรวงฉบับนี้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และใช้พืชกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจทางสุขภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนไทยต่อไป

ภาพปก