พิพิธภัณฑ์ไทยในวิกฤติโควิด 19 สู่การเป็นดิจิทัลมิวเซียม

ผู้เรียบเรียง :
ปัทมพร ทัศนา, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พิพิธภัณฑ์ตามภาพจำที่คนไทยหลาย ๆ คนนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ คือ สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งของต่าง ๆ ที่มีคุณค่า มีความสำคัญในแต่ละด้าน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เป็นสถานที่ที่คุณครูมักจะพาเด็กนักเรียนเข้ามาทัศนศึกษา สร้างความเพลิดเพลินและเป็นการเปิดประสบการณ์ให้เด็ก ๆ นอกเหนือจากการฟังทฤษฎีในห้องเรียน ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบในการจัดแสดง มีการจัดนิทรรศการต่าง ๆ  เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ให้เข้ามาเรียนรู้ และมีส่วนร่วม มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการจัดแสดงให้น่าสนใจยิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์หลาย ๆ แห่ง ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่จัดแสดงสิ่งของ แต่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสถานที่หนึ่งเลยก็ว่าได้

ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้เผชิญกับโรคติดต่อซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบและเริ่มระบาดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2562 เป็นต้นมา และได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในหลาย ๆ ด้านอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเมือง หรือด้านอื่น ๆ รวมถึงการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ด้วย 

วิกฤติโควิด 19 ดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดความรุนแรงลง ถือเป็นเหตุการณ์ใหม่ในวงการพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานที่เราคุ้นเคยในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์และผู้เข้าชม พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยในช่วงแรก ๆ  พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องหยุดการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติ ซึ่งทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้เข้าชม มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าชมเพื่อลดความแออัดของผู้เข้าชม รวมไปถึงการจัดนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ หรือการจัดกิจกรรมที่ผู้เข้าชมสามารถรับชมได้จากที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงกว่าเดิม พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องงดใช้สถานที่ในการเปิดให้บริการเข้าชม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เหลือเพียงแต่การให้บริการทางรูปแบบออนไลน์เท่านั้นที่ยังสามารถดำเนินการได้

การงดให้บริการเข้าชมพื้นที่พิพิธภัณฑ์ส่งผลกระทบโดยตรงในแง่ของการมีส่วนร่วมกับสังคม การต้องยกเลิกหรือปรับแผนงานกิจกรรมบางอย่างที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างกระทันหัน รวมไปถึงการขาดรายได้จากการเข้าชมและการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในขณะที่พิพิธภัณฑ์ยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ สถานการณ์โควิด 19 เป็นตัวเร่งทำให้แต่ละพิพิธภัณฑ์ทำสื่อในรูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น มีการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ผ่านเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งพัฒนาแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้ในช่วงโควิด 19 เช่น การเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง หรือ Virtual Museum ซึ่งผู้เข้าชมสามารถมองเห็นการจัดแสดงต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เสมือนยืนอยู่ในพิพิธภัณฑ์จริงในมุมมองแบบ 360 องศา โดยสามารถรับฟังข้อมูลผ่านการนำชมในระบบออนไลน์เช่นเดียวกับการมีเจ้าหน้าที่คอยนำชม การเปิดให้เข้าชมนิทรรศการเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ หรือ Virtual Exhibition ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละพิพิธภัณฑ์ บริการ E-book ผ่านระบบออนไลน์ การจัดกิจกรรมและถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live การมี Online Chatbot ในการพูดคุยกับผู้เข้าชม การสื่อสารผ่านสื่อ Social ต่าง ๆ และการนำ Application ต่าง ๆ มาใช้กระจายข่าวสารความรู้ เป็นต้น

การดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยต่อจากนี้ต้องทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น ทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชนเอง ต้องมีการปรับการดำเนินการหรือการดำเนินกิจกรรมให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการแบบออนไลน์ การประชุมออนไลน์ การชำระเงินออนไลน์ หรือการดำเนินงานอื่น ๆ บนดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นดิจิทัลมิวเซียมเต็มรูปแบบ เพื่อให้ตัวพิพิธภัณฑ์เองยังคงมีตัวตนอยู่ ในขณะเดียวกันความพยายามที่จะรักษาฐานผู้เข้าชมเดิมไว้ยังไม่พอ ต้องหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าหรือผู้เข้าชมใหม่ อาจมีการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ การดิลิเวอรี่สินค้าถึงบ้าน ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่การทำหน้าร้านของพิพิธภัณฑ์บน Google Business หรือเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม  

อย่างไรก็ตาม การจัดนิทรรศการผ่านทางออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการชมนิทรรศการจริง หรือการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสส่วนอื่น ๆ ของผู้เข้าชมได้ เมื่อวิกฤติโควิด 19 ผ่านพ้นไป พิพิธภัณฑ์แบบเดิมก็ยังคงต้องดำเนินกิจการต่อ โดยต้องให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ หรือ New Normal มีมาตรการในความปลอดภัยในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ จึงต้องมีการเตรียมตัวทั้งการปรับรูปแบบการจัดแสดง การให้บริการเข้าชม และการประยุกต์เอาดิจิทัลมาพัฒนาการจัดแสดงและการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมิวเซียม เพื่อสอดคล้องกับความทันสมัยของเทคโนโลยีปัจจุบัน อีกทั้งรองรับการหวนกลับมาของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 อีกกี่ระลอกก็ตาม เพื่อการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ไทยจะได้เดินต่อไปอย่างมั่นคงในฐานะแหล่งเรียนรู้สำคัญของประเทศ

ภาพปก