เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

ผู้เรียบเรียง :
เปรม ถาวรประภาสวัสดิ์, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยอยุธยา เดิมมีชื่อเรียกว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปรากฎชื่อเป็น เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ คำว่า "สุวรรณหงส์" แปลว่า หงส์ทอง ตามคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หงส์เป็นพาหนะของเทพ เช่น พระพรหม ส่วนในศาสนาพุทธ หงส์เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณบริสุทธิ์หรือจิตอันเที่ยงแท้ดังปรากฏในชาดกที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นหงส์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หั รัชกาลที่ 3 ปรากฏชื่อเป็น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงสร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน แต่มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6เพื่อทดแทนเรือพระที่นั่งลำเดิมที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และได้มีการประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีโขนเรือแกะสลักเป็นรูปหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก มีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ความยาว 46.15 เมตร ความกว้าง 3.17 เมตร ความลึกของลำเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน ผู้ถือธงท้ายเรือ 1 คน พสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มีความงดงามในเชิงศิลปกรรมประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ยังมีความสำคัญในการเป็นมรดกโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่แสดงถึงความอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณอีกด้วย ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างวิจิตรบรรจง นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ จึงได้บำรุงรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร (World Ship Trust) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่งเสริมการบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นมรดกล้ำค่าที่สาธารณชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสศึกษาและชื่นชมต่อไป และได้มอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยคณะกรรมการองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่  เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี พ.ศ. 2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award "Suphannahong Royal Barge" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่นายสุวิชญ์ รัศมิภูติอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณงส์ โดยจัดแสดงอยู่ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี โดยประชาชนสามารถเข้าชมความงดงามของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้ ณ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว
 

ภาพปก