การไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 50 (7) ที่ได้กำหนดไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 95) และลักษณะของบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ด้วย (มาตรา 96)

สำหรับการเลือกตั้งระดับชาติในกรณีของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย หากเป็นบุคคลที่แปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง ตลอดจนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 31) และกฎหมายได้กำหนดให้บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ 
(1) ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ 
(3) บุคคลที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 
(4) บุคคลที่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (มาตรา 32) ซึ่งบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ถือว่าบุคคลผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ด้วย (มาตรา 174)

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ให้แจ้งเหตุดังกล่าว ต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ในแต่ละเขตเลือกตั้งภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยสามารถแจ้งเหตุดังกล่าวด้วยวิธีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นต่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ หรือสามารถจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดรายละเอียดของเหตุที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประกอบการพิจารณาให้กับบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แต่งตั้งไว้ (มาตรา 33)

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเหตุจำเป็นต้องไปออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นขอลงทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามวิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ และหากเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตการเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องแสดงหลักฐานกำกับว่าไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 106 - มาตรา 107)

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแล้ว หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้ไปแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือได้แจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร สำหรับในกรณีของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะมีผลทำให้ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ 5 ประการ เป็นเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้ (มาตรา 35)
    (1) สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    (2) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
    (3) สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่ข้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
    (4) สิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
    (5) สิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่สำคัญของปวงชนชาวไทยในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของตนในการใช้อำนาจด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา และอำนาจด้านการบริหารของคณะรัฐมนตรี อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และยังประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาสวมใช้สิทธิแทน ซึ่งจะมีส่วนร่วมสนับสนุนให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและส่งผลดีต่อการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ภาพปก