การประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ผู้เรียบเรียง :
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นสถาบันตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่ในการตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตลอดจนการทำหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เรียกว่า "การประชุมร่วมกันของรัฐสภา"

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Joint Sittings of the National Assembly" หมายถึง กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีระเบียบวาระที่จะต้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องใด ๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 156 ได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาไว้ 16 กรณี ดังต่อไปนี้
1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 17
2. การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 19
3. การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช 2467 ตามมาตรา 20
4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา 21
5. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา 121
6. การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา 122
7. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 132
8. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่
9. การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 147
10. การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 155 และมาตรา 165
11. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157 ตามมาตรา 146
12. การแถลงนโยบายตามมาตรา 162
13. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา 177
14. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา 178
15. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256
16. กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน และในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา

ภาพปก