กฎหมายฟินเทคในประเทศไทย

ผู้เรียบเรียง :
ชัชฎาภรณ์ ประยูรวงษ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นที่แพร่หลายใช้กันในต่างประเทศขณะนี้ คือ นวัตกรรมฟินเทค หรือเทคโนโลยีทางการเงิน Fintech ในภาษาอังกฤษย่อมาจากคำว่า Financial Technology หมายถึง การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินโดยผ่านอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายที่ให้ความสะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน การโอนเงิน การกู้ยืมเงิน การหาเงินทุน และการบริหารจัดการเงินลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน จากรายงานดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของฟินเทคฉบับแรกในเอเชีย ปี 2560 สรุปว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของฟินเทคในสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 จาก 10 ประเทศที่มีการสำรวจ โดยประเทศไทยอยู่เพียงอันดับที่ 7 ซึ่งประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสมาคมฟินทคแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคของไทย ดังนั้นการวางมาตรการกำกับดูแลฟินเทคเพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยแต่ประเทศไทยยังมีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ฟินเทคเติบโตได้ช้าในขณะนี้ นั่นก็คือ การที่ประชาชนไม่มีความไว้วางใจในระบบการให้บริการฟินเทค อาทิ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบดิจิทัล เนื่องจากเกรงว่าจะมีการนำข้อมูลส่วนตัวของตนไปใช้ในทางมิชอบ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อพัฒนาและกำกับดูแลธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology : Fin Tech) และการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีการเงิน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 โดยใช้ชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน พ.ศ..... ซึ่งมีจำนวน 3 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 33 มาตรา โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้มีการปรับปรุงจากความคิดเห็นต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณา ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
1. ผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการการเงิน มีดังนี้
    1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
    2) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
    3) ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และลาดหลักทรัพย์
    4) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต
    5) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย
    6) ผู้ประกอบธุรกิจการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
    7) ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandbox)
    8) บุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนด
2. ให้มีคณะกรรมกรส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีการเงิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์รวมทั้งจัดทำแผนส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน
3. กำหนดให้การทำธุรกรรมบางประเภทในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือดำเนินการด้วยเทคโนโลยีอื่นใดให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า เป็นการให้ความเชื่อมั่นว่ากฎหมายจะรองรับการทำธุรกรรม ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และประกันภัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เทียบเท่าการทำธุรกรรมแบบปกติ
4. กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้ผู้ใช้บริการแสดงตนหรือดำเนินการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐที่ไม่มีกฎหมายห้ามเปิดเผยได้
5. กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ กับข้อมูลซึ่งทำการปกปิดตัวตนของเจ้าของข้อมูลแล้ว เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับข้อมูลนั้นได้ นอกจากนี้การฝ่าฝืนข้อบังคับเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลกำหนดโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่าทั้งหน่วยงนภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญกับกระแสของฟินเทคที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร และการประกันภัยของประเทศไทย การทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้บริการฟินเทคมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากความปลอดภัยของข้อมูล หรือความเสี่ยงจากตัวผู้ใช้เองที่ยังไม่มีความชำนาญในการใช้ ดังนั้นการวางมาตรการกำกับดูแลฟินเทคได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งที่จำเป็น หากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน พ.ศ.. ..ได้ผ่านความเห็นชอบและมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ผู้ประกอบการฟินเทคจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยให้บริการธุรกรรมทางการเงินทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพปก