ความเป็นมาของธงชาติไทย

ผู้เรียบเรียง :
เปรม ถาวรประภาสวัสดิ์, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทยมีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติเพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไป

ย้อนไปในสมัยอยุธยา ได้มีการใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรใช้ธงสีแดงเหมือนกัน ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน ทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดงเพื่อใช้สำหรับเรือหลวง นับเป็นครั้งแรกที่แยกธงสำหรับเรือหลวงและเรือราษฎร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาวเพื่อใช้สำหรับเรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก 3 เชือก ส่วนเรือราษฎรใช้ธงสีแดงอย่างเดิม

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้น ซ้ำกับประเทศอื่นทำให้สังเกตได้ยาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือราษฎรช้ธงสีแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลางส่วนเรือหลวงใช้ธงสีขาบมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 พระราชบัญญัติง รัตนโกสินทร์ศก 116 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 และใน พ.ศ. 2453 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง

พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นจากระยะไกล มีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการ และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่สง่งามเพียงพอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมแลแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ให้ธงชาติเป็นพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสาธง ใช้เป็นธงราชการ ต่อมาได้ยกเลิกใช้ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงชาติแบบสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว และใน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมี 3 สี จึงให้มีแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่ เรียกว่า ธงไตรรงค์

การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์ และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติดังนี้ สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนาสีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีการตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 อธิบายลักษณะธงชาติว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ๆ ละ 1 ใน 6 ส่วนเป็นแถบสีขาวต่อจากสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับธงชาติ คือ ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ และใน พ.ศ. 2560 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รูปธงชาติตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญถึงเรื่องของ
ค่ามาตรฐานการวัดสีธงชาติในลักษณะเป็นค่าแนะนำ

ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของชาติ เป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รำลึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษไทยที่หล่อหลอมให้คนไทยมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว สร้างความภูมิใจในความเป็นชาติ เกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยให้มีความเจริญรุ่งเรือง
 

ภาพปก