กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ผู้เรียบเรียง :
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของประเทศไทยเป็นปัญหาที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้ให้ความสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา โดยในมาตรา 54 วรรคหก ได้กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ

ต่อมาคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแก่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 โดยมีผลบังคับใช้ใวันที่ 14 พฤษภาคม 2561

วัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มาตรา 5 สรุปได้ดังนี้

ส่งเสริมเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัยและพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา ช่วยเหลือและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้สำเร็จการศึกษาชั้นพื้นฐาน เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพครูให้มีความสามารถ จัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสถานศึกษาให้มีการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัดและศักยภาพของตน ศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาครูต้นแบบที่มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาผู้เรียน และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกำลังแรงงานและยกระดับความสามารถของคนไทย

สำหรับการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทั้งหลายรวมทั้งครูนั้น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาดำเนินการช่วยเหลือค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมของเด็ก เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาค่าครองชีพซึ่งรวมถึงค่เลี้ยงดูเด็กเล็กสำหรับครอบครัว ค่าใช้จ่ายเดินทางมาเรียน และค่าอาหาร ค่าครองชีพระหว่างเรียน และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทุนเพื่อการฝึกอบรม ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมหรือเข้ารับการฝึกอบรม หรือการพัฒนาตนเองของครู ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส

ในปีการศึกษา 2561 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้จัดสรรเงินอุดหนุน ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ จำนวนกว่า 5.1 แสนคน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จำนวน 26,557 แห่งทั่วประเทศ และขยายผลสู่นักเรียนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนทุนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในรูปแบบของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมกับ 36 สถานศึกษาสายอาชีพ สร้างโอกาสให้เยาวชนจากครัวเรือนที่ยากจนได้เรียนต่อในสายอาชีพชั้นสูง จำนวน 2,107 คน และช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนสถาบันการศึกษาสายอาชีพให้มีสมรรถนะ และทักษะอาชีพ ตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบายรัฐบาล รวมถึงตามความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่นอีกด้วย

นอกจากนี้ในอนาคต จะริเริ่มโครงการทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ปีละ 300 คน ต่อเนื่อง 5 ปี และเตรียมสร้างสถาบันต้นแบบด้านการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 300 แห่งทั่วประเทศ สร้างระบบตัวอย่างในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาครบวงจร ซึ่งเบื้องต้นสามารถช่วยเหลือได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน รวมถึงโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเท่าเทียม

ภาพปก