มาตรการช่วยเหลือราคาพืชผลเกษตรตกต่ำของไทย

ผู้เรียบเรียง :
จีรณัทย์ ชาญเชิงพานิช, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

"กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจ เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม" เป็นวลีในบทเพลงที่คนไทยคุ้นเคยมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึงความเสียสละของเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงผองชนชาวไทยและมวลมนุษยชาติ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกษตรกรของไทยยังประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่การเกษตรของประเทศ ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงต้องรอการแก้ไขต่อไป ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ซึ่งรัฐบาลทุกสมัยต้องเผชิญ และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเป็นลำดับแรก ๆ ของการบริหารประเทศ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำที่รัฐบาลของไทยได้เคยนำมาใช้เป็นมาตรการในการกระตุ้นราคาสินค้าเกษตร ได้แก่

1. มาตการประกันราคา เป็นมาตรการที่ใช้กันมากในสินค้าเกษตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันราคที่เกษตรกรควรจะขายสินค้าได้ สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 การประกันราคาโดยรัฐรับซื้อผลผลิตทั้งหมด หากราคาสินค้าเกษตรที่ขายในตลาดต่ำกว่าราคาที่รัฐกำหนด และแบบที่ 2 ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดราคาขั้นต่ำ บังคับให้ผู้รับซื้อต้องซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูงกว่าราคาที่กำหนด ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยทำการประกันราคาตามความหมายที่แท้จริง เพราะการประกันราคาพืชผลชนิดใดก็ตาม หากเกษตรกรไม่สามารถขายสินค้าเกษตรให้แก่พ่อค้าหรือผู้ซื้อรายใดได้ตามราคาประกันที่รัฐกำหนด รัฐจะต้องเข้ามารับซื้อสินค้าเกษตรนั้นทั้งหมด โดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ตามราคาประกัน ซึ่งกรณีนี้รัฐต้องใช้งบประมาณและบุคลากรจำนวนมากมาเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และต้องมีภาระในการเก็บรักษาซึ่งยังไม่มีรัฐบาลใดประกันราคาได้สำเร็จตามความหมายที่แท้จริง

2. มาตรการพยุงราคา เป็นมาตรการที่รัฐมุ่งหวังจะรักษาระดับราคาสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเอาไว้ไมให้ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาดุลยภาพ ปกติสินค้าเกษตรจะได้รับการพยุงราคาเพราะการผลิตทางการเกษตรมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความผันผวนของดินฟ้าอากาศ และราคาตลาดอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน ในทงปฏิบัติรัฐจะมีเป้าหมาย ราคาไว้และพยายามดึงราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในขอบข่ายที่รัฐตั้งเป้หมายไว้เพื่อเป็นการสร้างอุปสงค์เทียมหวังผลให้กลไกตลาดจะตอบสนองทำให้ราคาสินค้าเกษตรยกระดับขึ้นมาอยู่ในข่ายที่ต้องการหรือที่ตั้งเป้าหมายไว้

3. มาตรการจำนำผลผลิต เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงต้นฤดูการผลิตที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื่องจากปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดจำนวนมากการจำนำผลผลิตเป็นทางเลือกที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้พอเลี้ยงชีพ ในขณะที่ยังไม่มีการขายผลผลิตออกไปและสามารถเก็บผลผลิตไว้รอราคาที่สูงขึ้นในช่วงปลายฤดูกาล ตามการเคลื่อนไหวของราคาที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลโดยหลักการรัฐจะเป็นผู้กำหนดราคารับจำนำ ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจะนำผลผลิตมาจำนำกับรัฐเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเกษตรกรสามารถมาไถ่ถอนจากรัฐ เพื่อนำไปขายในราคาที่สูงกว่าราคาจำนำ แต่เกษตรกรต้องรับภาระค่าดอกเบี้ย และค่าเก็บรักษา

โดยที่ผ่านมาทุกรัฐบาลของประเทศไทยจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคา และมีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกัน คือ ต้องการยกระดับราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นและให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิต ซึ่งเป็นเพียงมาตรการดำเนินการในระยะสั้นและใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาที่รัฐไม่พึงประสงค์ คือ การทุจริตในโครงการ มีการบิดเบือนวัตถุประสงค์ของนโยบาย ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณปโดยไม่จำเป็นและเกษตรกรที่แท้จริงไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร

สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการนำมาตรการประกันรายได้มาใช้สำหรับสินค้าเกษตร (ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2562) ได้แก่
1. การประกันราคาข้าว มีการกำหนดราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด คือ 
   1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน 
   2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
   3) ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน 
   4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และ 
   5) ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
2. การประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน กำหนดราคาประกันาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 4 บาท
3. การประกันรายได้จากการจำหน่ายยางพารา กำหนดราคายาง 3 ชนิด คือ 
   1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท /กิโลกรัม 
   2) น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท /กิโลกรัม 
   3) ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท /กิโลกรัม  
   ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ 

สำหรับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ มันสำะหลัง และข้าวโพด กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการในการประกันรายได้ ต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากการใช้นโยบายด้านราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแล้วการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็เป็นสิ่งจำเป็นและควรจะต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป โดยรัฐบาลควรจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง

ภาพปก