พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic)

ผู้เรียบเรียง :
นริศรา เพชรพนาภรณ์, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single- use plastic หมายถึง พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 200 ปี ตัวอย่างพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด แก้วน้ำ ขวดน้ำกล่องอาหาร เป็นต้น รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยในประเทศไทย ปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นขยะพลาสติกจากชุมชนประมาณ 2 ล้านต้น แต่มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีและนำไปรึไซเคิลในขณะที่ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ยังถูกกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น เทกอง เผากลางแจ้ง เผาในที่ไม่มีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศ หรือฝังกลบแบบเทรวม นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัย ปี 2558 พบว่า ขยะที่พบในทะเลมากกว่าครึ่งเป็นขยะพลาสติก และประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ทั้งที่มีประชากรเพียง 70 ล้านคน ขณะที่ประเทศที่มีประชากรมากกว่าพันล้านคนอย่างอินเดียอยู่อันดับที่ 12 และสหรัฐอเมริกาอยู่อันดับที่ 20

เมื่อคนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาขยะล้นโลก และขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเล กระแสรณรงค์กระตุ้นให้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การรณรงค์ให้คนไทย ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเริ่มเป็นที่รับรู้มากขึ้นในสังคมไทย ภาพของปลาทะเลจำนวนมากที่ต้องตาย เพราะกินพลาสติก และผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รายงานให้ทราบว่าห่วงโซ่สุดท้าย คือ ผู้บริโภคอาหารทะเลก็จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคอาหารทะเลที่มีสารปนเปื้อนไมโครพลาสติก (พลาสติกขนาดเล็กที่แตกจากการย่อยสลายไม่สมบูรณ์)

ภาคประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกร่วมกันจัดพื้นที่กิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เริ่มจากการปฏิเสธถุงหิ้วพลาสติก เปลี่ยนมาพกถุงผ้า แก้วน้ำ หลอด หรือกล่องอาหาร เป็นต้น เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รณรงค์การ " ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก " เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต การบริโภค และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภาคประชาชนยังเสนอให้ภาครัฐบรรจุหลักสูตรแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นภาคบังคับในทุกระดับชั้น

ในส่วนของผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดราคาให้กับลูกค้าที่นำภาชนะมาเอง สถานประกอบการหลายแห่งประกาศเป็นเขตปลอดโฟมและพลาสติก ส่วนมาตการของภาคเอกชน อย่างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร่วมรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง งดแจกถุงพลาสติก และจูงใจด้วยคะแนนสะสม ส่วนผู้ผลิตสินค้าต้องพัฒนาสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิลและมีส่วนรับผิดชอบจัดการซากสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน

ส่วนของภาครัฐ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติก และแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติก จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก คณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และคณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก ผลสรุปจากRoadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 มี 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 กำหนดการเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโช่ และไมโครบีด พร้อมทั้งกำหนดเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570

ความสะดวกสบายที่ผู้คนเคยชินจะถูกสังคมบังคับให้ดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ เช่น ต้องจ่ายเงินค่ากล่องอาหาร แก้วกาแฟ หรือถุงพลาสติกให้กับร้านค้า จ่ายค่ากำจัดขยะในอัตราที่สูงมาก เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากทุกคนตระหนักว่าเรามีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เรามีหน้าที่ที่ต้องส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนรุ่นหลัง การดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน
 

ภาพปก