ผู้บริหารท้องถิ่น

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เป็นการมอบอำนาจจากส่วนกลางเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมในการเสนอปัญหา ตัดสินใจ การตรวจสอบการทำงาน และการรับบริกรสาธารณะต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปกครองท้องถิ่นจะมีอิสระในการดำเนินงาน แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นดังนั้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ ( Decentralization) ให้กับประชาชนโดยตรง เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะของท้องถิ่นด้วยตนเอง ตามการกิจหน้าที่ที่ระบุให้ดำเนินการอย่างชัดเจน มีพื้นที่รับผิดชอบชัดเจน มีผู้บริหารที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนหรืออาจจะได้รับความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น

ปัจจุบันการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีอยู่ 2 ระบบ คือ 
1) ระบบทั่วไปที่ใช้แก่ท้องถิ่นทั่วไป มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 
2 ระบบพิเศษที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นบางแห่ง มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จึงเป็นความท้าทายสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์
สูงสุดต่อท้องถิ่นที่ตนดูแล

ผู้บริหารท้องถิ่น คือ บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยปกติแล้วผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีที่มา 2 ทาง คือ การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงและการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยอ้อม โดยผู้บริหารท้องถิ่นมีชื่อเรียกตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา ซึ่งมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยในการทำงานสามารถแต่งตั้งรองนายกฯ เลขานุการและที่ปรึกษานายกฯ เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้

ในการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น แต่เดิมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทได้กำหนดวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้ทั้งวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ส่วนคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่นนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ผู้บริหารท้องถิ่นทุกประเภทจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ยกเว้นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่กำหนดให้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คนที่เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือถ้าเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี หรือถ้าเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น

ผู้บริหารท้องถิ่นจะทำหน้าที่บริหารงานภายในขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนด และรับผิดชอบต่อสภาท้องถิ่นและประชาชนในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภายใต้การตรวจสอบและถ่วงดุลโดยสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สภาท้องถิ่น) โดยได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติหน้าที่นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ประชาชนจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านการลงคะแนนเสียงต่อการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นที่จะมาทำงานให้กับท้องถิ่นและเป็นการแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักของระบอบประชาธิปไตยรวมถึงจะเป็นการช่วยป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งไมให้ผู้อื่นมาสวมสิทธิแทนอีกด้วย

ภาพปก