ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต

ผู้เรียบเรียง :
ธนพร อินพุ่ม, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม แต่ในขณะเดี่ยวกันแม้สังคมจะก้าวหน้าเพียงใด กลุ่มคนที่เป็น "คู่รักเพศเดียวกัน" ยังคงได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมคู่รักชาย-หญิง สำหรับประเทศไทยทางสังคมดูเหมือนจะเปิดกว้างยอมรับทั้งเรื่องกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ "กลุ่ม LGBT" และเรื่องคู่รักเพศเดียวกัน แต่กฎหมายไทยกลับยังไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคม สิทธิของคู่รักเพศเดียวกันยังถูกจำกัด ดังนั้นกลุ่มหลากหลายทางเพศจึงผลักดันให้เกิดร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้น

กฎหมายสมรสสำหรับคนเพศเดียวกันนั้น นำมาซึ่งการที่คู่สมรสจะได้รับการยอมรับจากครอบครัว สังคม แม้ปัจจุบันคู่รักเพศเดียวกันจะอยู่ด้วยกัน โดยอาจมีการแต่งงานตามวัฒนธรรมไทยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสแต่อย่างใด แต่สังคมยังมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง ถ้ามีกฎหมายมารับรองให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ จะทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ สามารถยืนยันสิทธิและแสดงหน้าที่ของคนทั้งสองได้มากกว่าความรัก คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.... ขึ้น เพื่อให้สิทธิแก่คู่รักเพศเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (การจดทะเบียนสมรสของคนรักเพศเดียวกัน, 2560, น. 166)
    1) นิยามของคำว่าคู่ชีวิต หมายถึงบุคคลสองคนที่จดทะเบียนกันตามพระราชบัญญัตินี้
    2) การจดทะเบียนจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว
    3 บุคคลใดที่จดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว มาจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้วไปจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนครั้งหลังถือเป็นโมฆะ
    4) คู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเสมือนอยู่ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
    5) คู่ชีวิตอาจเลือกใช้นามสกุลอีกฝ่ายได้
    6) ในเรื่องทรัพย์สิน ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามาใช้บังคับ (สิทธิในการจัดการทรัพย์สินเหมือนกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)
    7) ในเรื่องมรดก ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดกมาใช้บังคับ (คู่ชีวิตมีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)
    8) คู่ชีวิตมีสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคนในครอบครัว เช่น เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาแทนเจ้าตัวได้ เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นบุคคลในครอบครัวตามกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์หากคู่ชีวิตถูกสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ ฯลฯ

สำหรับคนที่เป็นคู่รักกันย่อมคาดหวังว่าจะฝากฝังให้อีกฝ่ายหนึ่งดูแลทรัพย์สินหรือชีวิตของตนได้ ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะให้สิทธิเหล่านี้แก่คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ หากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ผ่านเป็นกฎหมาย ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชีย ที่มีกฎหมายจดทะเบียนสมรสให้แก่คู่รักเพศเดียวกัน นับเป็นก้าวที่สำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน

ภาพปก