Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของไทย

ผู้เรียบเรียง :
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พลาสติกมีคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ จึงมีการนำพลาสติกมาใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กันมากขึ้น จนส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ขณะที่มีการนำขยะดังกล่าวกลับไปใช้ประโชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร และไม่มีการนำกลับไปใช้ใหมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้รัฐบาลต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและพื้นที่ฝังกลบในการกำจัดขยะพลาสติก ประกอบกับการทิ้งขว้างขยะพลาสติกไม่ถูกที่ยังก่อให้เกิดการอุดตันตามท่อระบายน้ำในเมืองทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ปัญหาขยะลอยในแม่น้ำ/ลำคลอง และปัญหาเศษขยะพลาสติกและไมโคร พลาสติกในท้องทะเล

รัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติกจึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ จัดทำ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561-2573 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ซึ่ง Roadmap ดังกล่าวมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ลำดับที่ 14 ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 2 เป้าหมายย่อย คือ 
1) การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ในปี 2562 เลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo และพลาสติกไมโครบีด (Microbead) และในปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ประเภท ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหารแก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก
2) การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของพลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ และการกำจัดส่วนที่เป็นของเสียอย่างถูกวิธี ได้แก่ การจัดการขยะพลาสติกด้วยการเผาเป็นพลังงาน

ส่วนกลไกการจัดการตาม Radmap มีอยู่ด้วยกัน 4 กลไก ได้แก่ 
1) สร้างความรู้และความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการ 
2) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์
3) ใช้เครื่องมือและกลไกที่เหมาะสม เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทุกภาคส่วน การเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4) จัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการดำเนินการตาม Roadmap ดังกล่าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี
ช่วยประเทศประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 2,500 ไร่ และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊ซเรือนกระจกได้ถึง 1.2 ล้าน CO2
 

ภาพปก