ผู้เสียหายในคดีอาญา

ผู้เรียบเรียง :
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการก่ออาชญากรรมหรือการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้

ผู้เสียหายตามกฎหมาย จำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 

ประเภทที่ 1 ผู้เสียหายโดยตรง คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบโดยตรงจากการกระทำความผิดอาญานั้น 

ประเภทที่ 2 ผู้เสียหายโดยปริยาย หรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีแทนผู้เสียหายโดยตรงได้ เนื่องจากผู้เสียหายโดยตรงไม่สามารถดำเนินคดีได้ด้วยตัวเอง เช่น บิดา มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์ ผู้อนุบาลซึ่งมีอำนาจจัดการแทนบุคคลวิกลจริตที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ผู้แทนของนิติบุคคล เป็นต้น

ประเภทที่ 3 ผู้เสียหายในกรณีพิเศษ คือ บุคคลที่กฎหมายกำหนดให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย เช่น บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้เสียชีวิตไปก่อนที่ผู้เสียหายจะได้ร้องทุกข์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียหาย สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานะผู้เสียหายได้ 

จากสถานการณ์อาชญากรรมในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้เสียหายมีเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเห็นได้จากรายงานสถานการณ์อาชญากรรมและสถิติฐานความผิดคดีอาญา 4 กลุ่มของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2562 ในภาพรวมของประเทศที่แสดงให้เห็นว่า มีคดีอาญาที่ได้รับแจ้งความมากถึง 564,329 คดี จำแนกออกเป็น 1) กลุ่มคดีข้อหาฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ จำนวน 16,578 คดี 2) กลุ่มข้อหาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 49,189 คดี 3) กลุ่มข้อหาความผิดพิเศษ เช่น ความผิดฐานค้ามนุษย์ และความผิดฐานฟอกเงิน จำนวน 20,144 คดี และ 4) กลุ่มคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการพนัน จำนวน 478,418 คดี

ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอาญาของประเทศไทยในปัจจุบันใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งโดยหลักกำหนดให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้มีอำนาจในการฟ้องคดี แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้ หากผู้นั้นเป็น “ผู้เสียหาย” ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย โดยที่ผู้ได้รับความเสียหายนั้นจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด หรือการกระทำความผิดนั้นจะต้องไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ได้รับความเสียหายมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของสังคม และเมื่อผู้นั้นมีฐานะเป็นผู้เสียหายแล้วย่อมมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ มีสิทธิในการยุติคดีในคดีความผิดต่อส่วนตัว มีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และมีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ซึ่งทำให้ตนได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ

ในอดีตการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาตามระบบกฎหมายไทยยังมีไม่มากนัก จนกระทั่งเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ใช้บังคับ สิทธิของผู้เสียหายจึงได้รับความคุ้มครองมากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและการปฏิบัติที่เหมาะสมจากรัฐ รวมทั้งมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากรัฐในกรณีได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่นที่ผู้เสียหายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นด้วย ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักสากลที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ. 1985 และยังคงได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือจำเลย เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้วต่างก็ได้รับความเสียหายด้วยกันทุกฝ่าย ดังนั้น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ทุกคนในสังคมจึงควรอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาอาชญากรรมลดลง และสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข 

ภาพปก