แรงงานในยุคธุรกิจแพลตฟอร์ม

ผู้เรียบเรียง :
โสรญา วิกสุวรรณ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พัฒนาการของเทคโนโลยีได้ส่งผลให้เกิดรูปแบบการจ้างงานแบบระบบออนไลน์ โดยผู้อุปโภคบริโภคได้ติดต่อผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นตัวกลางที่คอยจับคู่ ความต้องการของผู้ขายสินค้าและบริการกับความต้องการของผู้ซื้อสินค้า โดยบริการผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการประกอบธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มนี้มีชื่อเรียกอย่างหลากหลาย เช่น เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital platform) เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy) และเศรษฐกิจชั่วคราว (Gig economy) 

ปัจจุบันการใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีการจัดรูปแบบการบริการที่หลากหลาย เช่น การให้บริการรับ-ส่งอาหารหรือพัสดุ การให้บริการจัดหาที่พัก การให้บริการจัดหาลูกจ้างทำความสะอาดบ้าน และการให้บริการรถสาธารณะ นับวันการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย เช่น ช่วยให้ได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วในราคาที่เป็นธรรม โดยไม่ต้องเดินทางไปซื้อด้วยตนเอง สามารถหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังสร้างแรงงานในตลาดแรงงานได้จำนวนมาก เพราะการทำงานผ่านแพลตฟอร์มไม่มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ผู้ปฏิบัติงานหรือแรงงานสามารถเลือกวัน เวลา และสถานที่ปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ แรงงานในระบบจำนวนมากยังทำงานเป็นรายได้เสริมจากการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มอีกด้วย เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แรงงานจำนวนมากได้เปลี่ยนมาเป็นแรงงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานระดับกลางและระดับล่างที่เข้ามาเป็นผู้ให้บริการ เช่น เป็นผู้ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ในการรับ-ส่งอาหารหรือพัสดุ เป็นผู้ให้บริการทำความสะอาด บริการที่พัก บริการจัดหาโรงแรมและการเดินทางต่าง ๆ ซึ่งแรงงานที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นแรงงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบ โดยสามารถใช้สิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้ แต่จะได้รับความคุ้มครองเพียง 5 กรณี คือ กรณีเงินทดแทนจากการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองตามประเภทสิทธิความคุ้มครองที่ผู้ประกันตนเลือก ซึ่งจะแตกต่างจากสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จะได้รับความคุ้มครอง ถึง 7 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

การทำงานผ่านแพลตฟอร์มช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงงานได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถยืดหยุ่นรูปแบบการทำงานได้มากกว่างานในระบบ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนแรงงานที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา แต่การทำงานในรูปแบบดังกล่าวก็มีข้อเสีย เช่น ยังขาดความชัดเจนของมาตรฐานแรงงานหรือมาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการธุรกิจแพลตฟอร์ม การขัดแย้งกับผู้ให้บริการเดิมที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่มีความก้าวหน้าทางอาชีพที่ชัดเจน และความเสี่ยงจากการลดลงของรายได้ในระยะยาว เห็นได้จากกรณีที่คนทำงานผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหารประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตโดยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใด ๆ ได้จากผู้ประกอบการธุรกิจแพลตฟอร์ม ดังนั้น ภาครัฐควรตระหนักและให้ความสำคัญกับแรงงานที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม โดยปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานและสิทธิประโยชน์ของแรงงานให้สอดคล้องกับการทำงานของแรงงานในปัจจุบัน อีกทั้งควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจแพลตฟอร์มกำหนดมาตรฐานการทำงาน การคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ที่แรงงานพึงจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ภาพปก