การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดความหมายของ “เกษตรอินทรีย์” หมายถึง “ระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน” จะเห็นได้ว่าเกษตรอินทรีย์เป็นอีกแนวทางการผลิตหนึ่งที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ

รัฐบาลในหลายยุคสมัยได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่พึ่งพาจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาเป็นการพึ่งพาตนเองในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเมื่อปี 2548 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยเป็นครัวของโลก พร้อมทั้งได้อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มีบทบาทและหน้าที่ในการผลักดันให้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติได้หยุดชะงักลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต่อมาปี 2550 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ต่อมาได้ขยายเวลาแผนยุทธศาสตร์ไปถึงปี 2555 และหลังจากนั้นไม่ได้มีการจัดทำแผนรองรับต่อ จนกระทั่งปี 2560 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งภายหลังได้มีการทบทวนและปรับเปลี่ยนเป็น “แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565” เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนแผนระดับประเทศอื่น ๆ

โดยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลภายในปี 2565 เพื่อมุ่งหวังเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 รายภายในปี 2565 รวมถึงมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี และกำหนดประเด็นการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ 3) พัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีกลไกในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด ภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เกษตรกร และผู้บริโภค

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในปี 2564 พบว่ามีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 1.51 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยปี 2560-2563 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 44.46 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว ขณะที่ข้อมูลในรายงานสถานการณ์เกษตรอินทรีย์โลกปี 2563 โดยสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ (The Research Institute of Organic Agriculture: FiBL) ร่วมกับสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federations of Organic Agriculture Movements: IFOAM) รายงานว่าประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียหรืออันดับที่ 40 ของโลก และมีส่วนแบ่งพื้นที่เกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด รวมถึงมีการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ในช่วงระยะ 10 ปี คิดเป็นร้อยละ 361.7 

การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีการเติบโตของเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ตามควรมีการพัฒนาและขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องตลอดโซ่อุปทานทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของระบบการผลิตที่สร้างความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ภาพปก