ธนาคารสีเขียว (Green Bank) : ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมบางส่วนได้หวนกลับคืนสู่ท้องถิ่นเพื่อเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมมากขึ้น ซึ่งนอกจากการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ประจำวันให้กับครอบครัวแล้ว สำหรับเกษตรกรการปลูกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจก็เป็นหนึ่งในอาชีพทางเลือกและเป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนระยะยาว จากนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนบนแนวทางศาสตร์พระราชาและโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชนและประเทศชาติด้วยการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และภาคีทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนโครงการ “ธนาคารสีเขียว (Green Bank)” เพื่อสร้างแรงจูงใจที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่ โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพ และธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับประชาชน ลดปัญหาหนี้นอกระบบ เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหา PM 2.5 และแก้ปัญหาโลกร้อน (Global Warming) รวมทั้งเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศ 

“ต้นไม้กู้เงินได้” หรือต้นไม้ที่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อได้นั้น ตามกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกัน พ.ศ. 2561 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ไม่ได้รับการประเมินในการให้สินเชื่อ จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทำให้สถาบันการเงินสามารถเพิ่มประเภททรัพย์สินในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงิน เกษตรกร และประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และจากการแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7 ได้ยกเลิกไม้หวงห้ามที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้สามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป

การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดให้ไม้ยืนต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้ก็เพื่อให้ “ต้นไม้” ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 ไม้ยืนต้นจำนวน 58 ชนิด สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น สัก มะตูม เป็นต้น และ

กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง เป็นต้น

คุณสมบัติของไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาประเมินมูลค่าเพื่อใช้เป็นหลักประกันได้จะต้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป มีขนาดเส้นรอบวงไม่ต่ำกว่า 3 เซนติเมตร มีลำต้นตรงสมส่วนอย่างน้อย 2 เมตรขึ้นไป วัดที่ความสูง 130 เซนติเมตรจากโคนต้น การเจริญเติบโตของลำต้นสมดุลกับความสูง โดยเปรียบเทียบเส้นรอบวงที่วัดได้กับตารางปริมาณและราคาเนื้อไม้ที่แบ่งเป็น 4 กลุ่มเพื่อหามูลค่าต้นไม้ การวัดมูลค่าจะต้องมีกรรมการและสมาชิกธนาคารอย่างน้อย 3 คนร่วมประเมินมูลค่า โดยให้สินเชื่อร้อยละ 50 ของราคาประเมินต้นไม้ชนิดนั้น ๆ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย และกลุ่มผู้ให้สินเชื่อรายย่อย (พิโกไฟแนนซ์) บางแห่งรับไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว ประกอบกับสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว หรือที่เรียกว่า “โครงการมัดจำต้นไม้” โดยการสำรวจเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ เตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่การใช้ต้นไม้เพื่อการค้าหรือเป็นหลักทรัพย์ และเสนอให้สร้างแบบจำลองในจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งที่ผ่านมาระบบการให้สินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันยังดำเนินการได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ การที่สามารถใช้ต้นไม้ที่มีอยู่แล้วเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นับเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ไม่มีทรัพย์สินในการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งในอนาคตธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์จะมีการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันมากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรที่ต้องการเงินทุนจำนวนไม่มาก สามารถนำต้นไม้ที่มีอยู่แล้วมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยไม่ต้องตัดหรือโค่นต้นไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่งต่อยอดขยายผลโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง เพื่อเพิ่มทรัพย์สิน สร้างหลักประกันให้กับครอบครัวและความมั่นคงในอนาคต สามารถใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อได้ ซึ่งในอนาคตการทำเกษตรรูปแบบนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปลูกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจจึงนับเป็นอีกหนึ่งวิธีการออมเงินและลดการกู้ยืมเงินนอกระบบที่ไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมาย และสร้างภาระให้กับเกษตรกรในระยะยาวได้

ภาพปก