เกษตรแม่นยำ

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เป็นรูปแบบการเกษตรที่นำเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการทางการเกษตรให้มีความเหมาะสมและแม่นยำขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ทำให้ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาสภาพแวดล้อม โดยเกษตรแม่นยำมีต้นกำเนิดจากประเทศแถบตะวันตกในทวีปยุโรปและอเมริกา เนื่องจากมีการถือครองพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่และมักพบความแปรปรวนของสภาพพื้นที่ทั้งจากสภาพดิน ความชื้น หรือสภาพภูมิประเทศ ส่งผลทำให้พืชมีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน จึงได้มีการศึกษาเพื่อจัดการลดความแปรปรวนดังกล่าว โดยการเก็บข้อมูลในแปลงปลูกและนำเครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ มาสนับสนุน เช่น เทคโนโลยีดาวเทียม เซนเซอร์ ประกอบกับการที่ค่าแรงเกษตรสูงเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรแม่นยำได้รับความสนใจมากขึ้นและถูกนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมและใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุดและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

เกษตรแม่นยำมีการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เช่น ชุดตรวจวัดดินแบบพกพา เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การใช้ระบบพิกัดจีพีเอสนำทาง (GPS: Global Positioning System) เพื่อควบคุมการไถพรวน การหว่านเมล็ด การฉีดสเปรย์รดน้ำ การพ่นปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร หรือการเก็บเกี่ยวอัตโนมัติในแปลงพืช โดยการควบคุมด้วยระบบจีพีเอสทำให้เกิดความเที่ยงตรงสูง ช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนของพื้นที่ที่ได้จัดการไปแล้ว ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการแปลงส่วนหนึ่ง และหากติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อสำรวจ เช่น เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพพืช ทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปสร้างแผนที่ความแตกต่างของสภาพภายในแปลง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปวางแผนการจัดการพื้นที่ในแปลงปลูกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หรือกรณีตัวอย่างเกษตรแม่นยำในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ได้มีการพัฒนาปลอกคอพลังงานแสงอาทิตย์ (eGrazor) เพื่อใช้ในการติดตามและเก็บข้อมูลพฤติกรรมสัตว์ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการกินและนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการการให้อาหารสัตว์ รวมถึงสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อระบุประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารให้เป็นเนื้อและนมได้อีกด้วย ส่วนกรณีตัวอย่างในด้านประมงได้มีการนำเทคโนโลยี “Aqua-IoT” มาบริหารจัดการฟาร์มและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบด้วย 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1) ระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำแบบทันท่วงที รวมทั้งสถานีวัดอากาศ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการที่ระดับออกซิเจนต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม 2) ระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็กในน้ำ ซึ่งช่วยทำให้สังเกตเห็นความปกติหรือความผิดปกติของสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็ก 3) ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตา สำหรับตรวจคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยง เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ทำให้จัดการดูแล แก้ไข อย่างถูกต้อง แม่นยำ และ 4) ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยในการจัดการสภาพทางชีววิทยาในบ่อเพาะเลี้ยงอย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้สัตว์น้ำมีสุขภาพที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่มีความสมดุล

โดยขั้นตอนการทำงานของเกษตรแม่นยำ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 
1) การเก็บรวบรวมข้อมูล 
2) การวินิจฉัยข้อมูลเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์เข้าสู่ฐานข้อมูล
3) การวิเคราะห์ข้อมูล 
4) การดำเนินงานตามแผนงาน
5) การประเมินประสิทธิภาพหรือความคุ้มค่า 

ทั้งนี้ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความหลากหลายและมากพอมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์และแปรผล เพื่อนำมาวางแผนการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เกษตรแม่นยำอาจมีข้อจำกัดสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุน เช่น อุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูล ซอฟต์แวร์ เครือข่ายในการเชื่อมต่อ อีกทั้งการขาดองค์ความรู้ ทักษะ และการยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกร ดังนั้น จึงควรพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรและราคาที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาธุรกิจการให้บริการเพื่อทดแทนการครอบครองเทคโนโลยี ทำให้ช่วยลดภาระการลงทุนของเกษตรกรและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาพปก