ปุ๋ยสั่งตัด

ผู้เรียบเรียง :
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในภาคการเกษตร พืชต้องการธาตุอาหารหลักอยู่ 3 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และ โพแทสเซียม (เค) โดยปุ๋ยเป็นวัสดุที่มีธาตุอาหารพืช ปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ และ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่มีสารประกอบเป็นธาตุอาหารของพืชที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิตที่ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารพืช เอ็น พี เค พอประมาณ แต่มีวัสดุที่มีคุณสมบัติปรับปรุงบำรุงดินร่วมอยู่ด้วย เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์จึงทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ส่วนปุ๋ยเคมี คือปุ๋ยที่มีสารประกอบอนินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารพืช เป็นสารประกอบที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี จึงเรียกว่าปุ๋ยเคมี ซึ่งมีธาตุอาหารพืช เอ็น พี เค ครบถ้วนเต็มปริมาณ ดังนั้น เมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดินที่มีความชื้นที่เหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายธาตุอาหารพืช เอ็น พี เค ให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว
    
เกษตรกรเริ่มนำปุ๋ยเคมีมาใช้เมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา และเป็นที่นิยมแพร่หลาย แม้ปุ๋ยเคมีมีราคาสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์และหากใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้โครงสร้างดินจับตัวแน่นจนเนื้อดินเสียหาย แต่เพราะปุ๋ยเคมีใช้งานสะดวก และให้ธาตุอาหารแก่พืชที่มากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกร จนปุ๋ยเคมีกลายเป็นปุ๋ยที่มีการใช้เป็นจำนวนมาก นับว่าปุ๋ยและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีบทบาทและความสำคัญต่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจไทย

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตทางการเกษตรที่มีรายได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท และมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีประมาณ 5 ล้านตัน มีมูลค่ามากถึง 50,000 ล้านบาท เพราะเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิต คิดเป็นร้อยละประมาณ 10-20 ของต้นทุนการผลิต แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ปุ๋ยเคมีปรับราคาสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะสูงมากขึ้นต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตการเกษตรสูงเพิ่มขึ้น เกษตรกรสูญเสียรายได้จากต้นทุนที่สูงขึ้นและผลผลิตที่ลดลง ด้วยเหตุนี้ แนวทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้ คือ ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างพอเพียงและคุ้มค่าตามความเหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่การเกษตรที่เรียกว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งเป็นวิธีการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพสูง ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีส่วนเกิน และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้

แต่เดิมการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการแนะนำใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ตามสภาพดินว่าเป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย โดยใช้สีดินหรือเนื้อดินเป็นเกณฑ์ เนื่องจากข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับดินมีจำกัด ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ดินทางเคมีที่สะดวก รวดเร็ว เกษตรกรสามารถส่งตัวอย่างดินของตนไปทำการวิเคราะห์ทางเคมีได้ทั้งที่หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จึงเข้าสู่แนวทางในการจัดการดินและปุ๋ยในยุคปัจจุบันที่ทันสมัยมากขึ้น คือการแนะนำให้ใช้สูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ที่ได้มีการวิเคราะห์ดินมาแล้ว วิธีการแบบนี้ เรียกว่า ปุ๋ยสั่งตัด เนื่องจากลักษณะดินในการเพาะปลูกพืชมีมากมายหลายร้อยชุดดิน แต่ละชุดดินมีศักยภาพในการให้ผลผลิตพืชแตกต่างกัน การใช้ปุ๋ยเคมีสั่งตัดจึงเป็นการใช้ความรู้ในทรัพยากรดินและการใช้ปุ๋ยอย่างคุ้มค่าเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ 

หลักการสำคัญของปุ๋ยสั่งตัดมี 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย

ขั้นที่ 1 การตรวจสอบข้อมูลชุดดิน โดยการสอบถามข้อมูลชุดดินได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินในทุกจังหวัด หรือตรวจสอบข้อมูลชุดดินทางระบบออนไลน์ที่เว็บไซด์ของกรมพัฒนาที่ดิน

ขั้นที่ 2 การเก็บตัวอย่างดินและการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน เพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช เอ็น พี เค ที่มีอยู่ โดยใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชด้วยตนเองแบบรวดเร็วที่สะดวก หากต้องการผลวิเคราะห์ที่แม่นยำมากขึ้นสามารถส่งให้สถานีพัฒนาที่ดินหรือห้องปฏิบัติการของภาคเอกชนวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชได้

ขั้นที่ 3 นำข้อมูลจากขั้นที่ 1 และ 2 เข้าสู่โปรแกรมสำเร็จรูป “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีเฉพาะพื้นที่ ประกอบด้วย สูตรปุ๋ยเคมีตามสัดส่วนธาตุอาหารพืช เอ็น พี เค และปริมาณที่เพียงพอเหมาะสมในการใช้ปุ๋ย หากปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัดดังกล่าว จะส่งผลให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้ปุ๋ยเคมีเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ตามมา

จากผลการทดลองโครงการบูรณาการเพื่อลดต้นทุนการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลางที่ใช้ปุ๋ยเคมีสั่งตัด พบว่า เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลดลง 241 บาท ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง 178 บาท รวมต้นทุนการปลูกข้าวลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก ทำให้คาดคะเนต่อไปว่า ถ้าชาวนาภาคกลางในพื้นที่ 10 ล้านไร่ ที่ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง และใช้ปุ๋ยเคมีสั่งตัด จะทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาหลายฉบับ พบว่าการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือปุ๋ยที่ผสมเองให้มีธาตุอาหารพืช เอ็น พี เค ตรงกับความต้องการ จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนลง เพราะข้าวได้สารอาหารที่ต้องการและไม่เสียปุ๋ยส่วนเกินที่ไม่จำเป็น ทำให้พืชทนทานกับโรคและแมลงได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงได้

การใช้ปุ๋ยเคมีแบบปุ๋ยสั่งตัดให้ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยเฉพาะพื้นที่หรือแปลงเพาะปลูก และให้เกิดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถูกต้องตรงตามอัตราส่วนที่พืชต้องการและใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม สามารถประหยัดต้นทุนการผลิต ลดความสิ้นเปลือง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงในระยะยาวได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป
 

ภาพปก