เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จากต่างประเทศ

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายหลังจากที่กัญชา กัญชง ได้ถูกนำออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ทำให้ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol) หรือสาร THC เกินร้อยละ 0.2 ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษ พืชกัญชา กัญชง จึงกลับเข้ามาอยู่ในการควบคุมของกรมวิชาการเกษตรเหมือนพืชทั่วไปที่ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่ต้องมีการจดแจ้งการปลูก และในส่วนของการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการควบคุมการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ศัตรูพืช และโรคพืช 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพืชกัญชา กัญชง ได้จากทุกประเทศ โดยผู้นำเข้าหรือประสงค์จะเป็นผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จากต่างประเทศ ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และต้องเป็นการจำหน่ายพันธุ์ที่ผ่านการรับรองของกรมวิชาการเกษตรแล้ว โดยจะต้องมีเอกสารใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phyto Certificate: PC) และใบรับรองว่าไม่ใช่พืชที่มีการดัดแปลงสารพันธุกรรม (GMOs) ของประเทศต้นทางกำกับมาด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง เป็นพืชที่มีราคาสูง กรมวิชาการเกษตรจะไม่มีการเก็บเมล็ดตัวอย่างมาสุ่มตรวจอัตราการงอกจำนวน 400 เมล็ดเหมือนแนวปฏิบัติเดิมที่ดำเนินการกับพืชชนิดอื่น แต่กรมวิชาการเกษตรจะติดตามและตรวจสอบที่แปลงปลูกหรือแหล่งเพาะพันธุ์จำหน่ายว่าเมล็ดมีการงอกตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 โดยแปลงที่จะมีการเพาะจำหน่ายจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

การตรวจสอบการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จากต่างประเทศนั้น หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการนำเข้าด้านเอกสารและด้านสุขอนามัยพืช กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งกลับหรือสั่งให้ทำลายซึ่งเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ หากตรวจพบเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นพืชที่ได้รับการดัดแปลงสารพันธุกรรม ต้องส่งสินค้านั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในส่วนของนักวิจัย นักพัฒนา นักปรับปรุงพันธุ์ ต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอการรับรองพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งการนำพันธุ์พืชมาขอขึ้นทะเบียนนั้น จะทำให้พันธุ์พืชที่ผ่านการรับรองได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณสมบัติของพันธุ์พืช โดยผู้ที่ต้องการนำพันธุ์พืชมาขอรับการขึ้นทะเบียนสามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ทั้งนี้ กัญชาหรือพืชสกุล Cannabis มี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) และสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) ปัจจุบันพันธุ์กัญชา กัญชง ที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้วมีจำนวน 13 ฉบับ แบ่งเป็นพืชกัญชงจำนวน 5 สายพันธุ์ พืชกัญชาจำนวน 8 สายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว ที่มีลักษณะช่อดอกจำนวนมาก แน่นเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ลำต้นเป็นทรงพุ่ม มีกลิ่นคล้ายเปลือกส้มผสมตะไคร้ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง มีลักษณะของช่อดอกที่คล้ายกับพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว แตกต่างตรงที่มีสีแดงที่กิ่ง ก้าน และใบ ไม่มีกลิ่นฉุน มีกลิ่นคล้ายผลไม้สุก พันธุ์หางเสือ มีลักษณะของช่อดอกยาวคล้ายหางเสือ กลิ่นคล้ายเปลือกส้ม มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย พันธุ์หางกระรอก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไทยสติ๊ก” (Thai Stick) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากมีสาร THC ที่มีคุณประโยชน์ในทางรักษาสูง หรือประมาณร้อยละ 20 และเป็นสายพันธุ์แท้ดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์กัญชา กัญชง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อรอการออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนอีก 19 สายพันธุ์

สำหรับพันธุ์กัญชาของไทยที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนพันธุ์แรก คือ “พันธุ์อิสระ 01” ได้มาจากการคัดเลือกกลุ่มกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ปลูกอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ประมาณ 24 ปี โดยกรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการปลูกและสกัดพืชกัญชาผลิตตำรับยารักษาโรค กรณีจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยเฉพาะราย และโครงการผลิตช่อดอกกัญชาจากระบบผลิตกัญชาไทยคุณภาพสูงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การใช้ชื่อ “พันธุ์อิสระ 01” สื่อความหมายถึง กัญชาสายพันธุ์ดีของประเทศไทยที่มีสาร Cannabinoid (CBD) ซึ่งมีสรรพคุณทางยาได้รับการปลดปล่อยให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และเป็นสายพันธุ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น ในส่วนของประชาชนที่ต้องการจะซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกทั้งในครัวเรือนหรือเชิงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำให้เลือกซื้อจากร้านค้าหรือร้านจำหน่ายที่มีใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร โดยร้านค้าจะต้องมีใบอนุญาตแสดงไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน หรือกรณีซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่มีการสำแดงใบอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนควรศึกษาถึงผลดี ผลเสีย รวมถึงผลกระทบก่อนการนำไปใช้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ภาพปก