ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคําไซ)

ผู้เรียบเรียง :
ณัฐพงศ์ พันธุ์ไชย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เปิดให้ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่

1. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมต่อจังหวัดหนองคายกับเวียงจันทน์

2. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เชื่อมต่อจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต

3. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมต่อจังหวัดนครพนมกับแขวงคำม่วน

4. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมต่อจังหวัดเชียงรายกับห้วยทราย

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ มีวงเงินลงทุนจำนวน 2,630 ล้านบาท ส่วน สปป.ลาว จะใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) วงเงินลงทุนจำนวน 1,300 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนการก่อสร้างทั้งสิ้นจำนวน 3,930 ล้านบาท 

โดยที่ตั้งของโครงการนั้น ฝั่งไทยอยู่ที่บ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และฝั่ง สปป.ลาว อยู่ที่บ้านก้วยอุดม เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ระยะทางของโครงการรวมทั้งสิ้น 16.18 กิโลเมตร เป็นงานก่อสร้างฝั่งไทย 13 กิโลเมตร และฝั่ง สปป.ลาว 3.18 กิโลเมตร ความยาวของสะพาน 1.350 กิโลเมตร ทั้งนี้ สิทธิและกรรมสิทธิ์ในโครงการของแต่ละประเทศจะอยู่ที่จุดกึ่งกลางของสะพานหลักข้ามแม่น้ำโขง โดยฝ่ายไทยจะมีกรรมสิทธิ์นับจากจุดกึ่งกลางสะพานหลักมาทางด้านฝั่งไทย รวมถึงถนนเชื่อมต่อ อาคารด่านควบคุม และสิ่งปลูกสร้างทางฝั่งไทยทั้งหมด ส่วนฝ่าย สปป.ลาว จะมีกรรมสิทธิ์นับจากจุดกึ่งกลางสะพานหลักไปยังฝั่ง สปป.ลาว รวมถึงถนนเชื่อมต่อ ถนนเปลี่ยนทิศทางการจราจร อาคารด่านควบคุม และสิ่งปลูกสร้างทางฝั่ง สปป.ลาว ทั้งหมด

สำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 

ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างถนนเชื่อมต่อและอาคารด่านพรมแดนฝั่งไทย โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และก่อสร้างทั้งหมด

ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง และองค์ประกอบอื่นของสะพาน จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ตามสัดส่วนของงานก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละประเทศ 

ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างถนนเชื่อมต่อและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว โดยฝ่าย สปป.ลาว จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของโครงการในส่วนของฝั่งไทยนั้น ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทย วงเงินประมาณ 831 ล้านบาท มีความคืบหน้าร้อยละ 29.54 สัญญาที่ 2 ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่าง ๆ และถนนภายในด่าน วงเงินประมาณ 883 ล้านบาท มีความคืบหน้าร้อยละ 25.51 และสัญญาที่ 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย วงเงินฝั่งไทยประมาณ 787 ล้านบาท มีความคืบหน้าร้อยละ 9.56 อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จทั้งฝั่งไทยและฝั่ง สปป.ลาว โดยพร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคําไซ) มีข้อสังเกตสำคัญ ดังนี้

1. โครงการดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน ณ ด่านบึงกาฬเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ที่สั้นที่สุด รวมระยะทางประมาณ 980 กิโลเมตร โดยผ่านทางหลวงหมายเลข 222 ผ่านด่านพรมแดนฝั่งไทยเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 13 ของ สปป.ลาว ไปยังจุดเชื่อมเส้นทางหมายเลข 8 เข้าเมืองวินห์ ประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ จากเส้นทางดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการขนส่งและภาษีอากรผ่านแดนได้ร้อยละ 3 

2. กรณีเงื่อนไขการกู้เงินของ สปป.ลาว จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) วงเงินลงทุนจำนวน 1,300 ล้านบาทนั้น ได้มีการกำหนดเงื่อนไขผูกมัดให้ สปป.ลาว ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าวจากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมถึงต้องให้ผู้รับเหมาและที่ปรึกษาจากประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการ กรณีนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมการใช้สินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้างจากประเทศไทย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการดังกล่าว ภาครัฐจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อประชาชนอันเนื่องมาจากการเวนคืนพื้นที่ และกระบวนการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เช่น ฝุ่นละออง เสียงดัง หรืออันตรายที่อาจเกิดจากเครื่องจักร เป็นต้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องให้การช่วยเหลือและเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และมีความเป็นธรรมที่สุด

ภาพปก