บัญชีม้า

ผู้เรียบเรียง :
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ด้วยการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลในปัจจุบันที่เป็นไปได้โดยง่าย อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความสะดวกและรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันคนร้ายหรือมิจฉาชีพก็ได้ฉวยโอกาสดังกล่าวมาใช้เป็นประโยชน์ในการรับเงินหรือโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวงประชาชน ด้วยการใช้ “บัญชีม้า” เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการสืบสวนหรือปกปิดตัวตนไม่ให้เชื่อมโยงมายังผู้กระทำความผิดที่แท้จริง โดยบัญชีม้าจะใช้เรียกชื่อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นที่ถูกคนร้ายนำมาใช้เป็นช่องทางในการรับเงินและถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งการได้บัญชีม้ามานั้นมีหลายวิธี ทั้งจากการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเพื่อนำไปเปิดบัญชี หรือการจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี หรือรับซื้อบัญชี เงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป โดยกรณีนี้คนร้ายจะนำสำเนาบัตรประชาชนและซิมการ์ด (SIM Card) ของผู้ขายบัญชีเงินฝากไปผูกกับการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) เพื่อนำไปใช้ ทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ทันที ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันมีผู้นำบัญชีเงินฝากมาขายอย่างเปิดเผยและแพร่หลาย ผ่านสังคมออนไลน์ โดยคนร้ายมักจะมีบัญชีม้าจำนวนหลายบัญชี เพื่อโอนส่งเงินต่อกันเป็นทอด ๆ และสุดท้ายก็จะถอนเงินของผู้เสียหายออกไปโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ถ้าหากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรืออายัดเงินในบัญชีม้าบัญชีใด คนร้ายก็จะเปลี่ยนไปใช้บัญชีม้าอื่น ๆ ที่ยังสามารถใช้งานแทนกันได้ โดยบัญชีม้ามักถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดต่าง ๆ เช่น การหลอกลวงฉ้อโกงด้วยการนำบัญชีม้ามาใช้รับเงินค่าประกันในการกู้ยืมเงินที่คนร้ายหลอกผู้เสียหายหรือผู้กู้ว่าจะได้รับเงินที่กู้ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินประกันการกู้ยืมผ่านช่องทางแอปพลิเคชันเงินกู้ต่าง ๆ หรือการหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) โดยเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็ทำการโอนเงินไปยังบัญชีม้าของคนร้าย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนำบัญชีม้ามาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนัน แชร์ลูกโซ่ หรือยาเสพติด โดยจากผลดำเนินการปราบปรามจับกุมของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่เปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำไปใช้กระทำความผิดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือบัญชีม้า จำนวน 344 ราย (บัญชี) มีมูลค่าความเสียหายจำนวนกว่า 869 ล้านบาท ซึ่งเรียงลำดับประเภทจากมูลค่าความเสียหาย ดังนี้ อันดับ 1 การหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน ครอบคลุมการโอนเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ต/แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Scam/Call Center) และแชร์ลูกโซ่หลอกให้ลงทุนทางออนไลน์ จำนวนกว่า 693 ล้านบาท อันดับ 2 การพนันออนไลน์ จำนวน 154 ล้านบาท อันดับ 3 คดีความตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำนวนกว่า 13 ล้านบาท และอันดับ 4 การหลอกลวงผ่านการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ จำนวน 8 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญโดยมีการบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้าอย่างจริงจังเนื่องจากเป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจับกุมและปราบปรามกลุ่มคนร้ายที่เป็นนายหน้าหาผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ 2542 กำหนดให้ผู้ใช้บัญชีเงินฝากของผู้อื่น ผู้ยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน รวมทั้งผู้ซื้อผู้ขายบัญชีเงินฝากธนาคารโดยรู้อยู่แล้ว หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ให้บุคคลเหล่านี้มีความผิดตามกฎหมาย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยก็ได้มีการกำชับให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าที่มาขอเปิดบัญชี รวมถึงการเผยแพร่ความตระหนักรู้และเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงความผิดทางกฎหมายจากการรับเปิดบัญชีม้าด้วย

ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกหลอกลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดบริการให้คำปรึกษาและแนะนำ หรือรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่าน www.thaipoliceonline.com, www.pct.police.go.th หรือผ่านเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 08 1866 3000 หรือสายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพปก