คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ผู้เรียบเรียง :
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ กลไก มาตรการกำกับดูแลเพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปแล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลและสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเริ่มมีการประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน บทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับทั้งฉบับ เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 กำหนดให้หน่วยงานและกิจการต่าง ๆ ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติในหมวดและมาตราที่เกี่ยวข้องกับกลไก รวมถึงมาตรการการกำกับดูแลคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้หน่วยงานและกิจการต่าง ๆ ยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนด ทำให้ที่ผ่านมามีเพียงบทบัญญัติเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหมวด 1 และการตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหมวด 4 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเท่านั้นที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2562

ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว “คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายและกำหนดทิศทางการดำเนินการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย เนื่องจากคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น จัดทำแผนแม่บทการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน ดำเนินกิจกรรมตามแผนแม่บท รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน กำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวมทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ และส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดทักษะการเรียนรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ประชาชน นอกจากนั้น คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังเป็นผู้ที่แต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะเป็นผู้ที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือไม่ ตรวจสอบการกระทำของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้

คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 17 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งมาจากการสรรหาและแต่งตั้งตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด รองประธานกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอัยการสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ซึ่งมาจากการสรรหาและแต่งตั้งตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด และมีเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับการสรรหาและแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 อนุมัติแต่งตั้ง นายเธียรชัย ณ นคร เป็นประธานกรรมการและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คน รวม 10 คน ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ แต่ต่อมากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย) ได้ขอถอนตัวและคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ทำให้ต้องมีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 อนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติ) แทนผู้ที่ขอถอนตัว และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 

คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบการทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยได้กำหนดแผนการทำงานในระยะ 6 เดือนแรกเพื่อผลักดันเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการบังคับใช้กฎหมายลำดับรอง รับทราบการเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายแก่ทุกภาคส่วน และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการกฎหมายเพื่อจัดทำแผนกลั่นกรองกฎหมายลำดับรองและเสนอแนวทางการให้ความเห็นและตอบข้อหารืออีกด้วย

การที่ประเทศไทยมีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้กลไกต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น การกำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ เป็นต้น รวมทั้งยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่ากลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะมีผู้ที่กำหนดทิศทางที่ชัดเจน ส่งผลให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ภาพปก