การพักการลงโทษ คือ การปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี อยู่ในระเบียบวินัย ขยันฝึกวิชาชีพ และทำความชอบแก่ราชการ ให้ออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ โดยโทษจำคุกตามคำพิพากษาเดิมยังคงเหลืออยู่
การลงโทษผู้กระทำความผิดของสังคมไทยในปัจจุบันยังคงใช้การลงโทษทางอาญาด้วยวิธีการนำตัวผู้กระทำความผิดไปคุมขังไว้ในเรือนจำเป็นหลัก ตามแนวความคิดที่ว่าการลงโทษจำคุกในเรือนจำเป็นวิธีการป้องกันสังคมให้มีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นการตัดโอกาสไม่ให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำได้อีก อีกทั้งยังเป็นวิธีการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดให้กลับตัวเป็นคนดี ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นโทษแล้วได้ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหลายประการ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ฯลฯ ทำให้การกระทำความผิดอาญาเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำตามมา ซึ่งจากข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 274,277 ราย เป็นชาย 241,220 ราย หญิง 33,057 ราย และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำต่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของอาเซียน ส่งผลให้การแก้ไขพฤตินิสัยของผู้ต้องขังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นกรมราชทัณฑ์จึงได้นำมาตรการพักการลงโทษมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การพักการลงโทษแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ
การพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดรายใดนั้น เรือนจำและทัณฑสถานแต่ละแห่งจะดำเนินการสำรวจนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษ โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษประจำเรือนจำจะทำการตรวจสอบบัญชีรายชื่อนักโทษเด็ดขาด ที่สมควรได้รับการพักการลงโทษและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการตรวจสอบต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่ได้กระทำ การกระทำความผิดที่ได้กระทำมาก่อน ระยะเวลาการคุมประพฤติ ความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของผู้อุปการะในการควบคุมดูแลนักโทษเด็ดขาดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขจนกว่าจะพ้นโทษ ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม พฤติการณ์ในระหว่างถูกคุมขังที่น่าเชื่อว่าได้กลับตนเป็นคนดี และผ่านการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยมาแล้ว จากนั้นเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาส่งรายชื่อไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณา เมื่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบแล้วให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณาอนุมัติ แต่หากเป็นกรณีการพักการลงโทษกรณีพิเศษต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติด้วย
เมื่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอนุมัติพักการลงโทษและให้ปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการพักการลงโทษแล้ว ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจ้งผลการอนุมัติให้ผู้บัญชาการเรือนจำทราบ ผู้บัญชาการเรือนจำต้องออกหนังสือสำคัญปล่อยตัวพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดผู้นั้นและแจ้งเงื่อนไขการคุมประพฤติให้นักโทษเด็ดขาดทราบ รวมทั้งมีหนังสือแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติและพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในท้องที่ที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการปล่อยตัวเข้าไปพักอาศัยทราบด้วย โดยนักโทษเด็ดขาดผู้นั้นต้องไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติในท้องที่ที่ไปพักอาศัยภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว
นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากกระทำตามเงื่อนไขการคุมประพฤติที่กำหนดไว้และไม่กระทำความผิดอาญาใดขึ้นอีกก่อนครบกำหนดโทษ ถือว่านักโทษเด็ดขาดผู้นั้นได้รับโทษจำคุกครบถ้วนแล้วตามคำพิพากษาและจะได้รับใบสำคัญการปล่อยนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษหรือที่เรียกกันว่า “ใบบริสุทธิ์” ไว้เป็นหลักฐานการพ้นโทษ แต่หากระหว่างนั้นนักโทษเด็ดขาดกระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติที่กำหนดไว้หรือกระทำความผิดอาญาใดขึ้นอีกก็จะถูกเพิกถอนการคุมประพฤติและถูกส่งตัวกลับไปรับโทษในเรือนจำเช่นเดิม
การพักการลงโทษเป็นประโยชน์ที่ทางราชการมอบให้แก่นักโทษเด็ดขาด เป็นการจูงใจนักโทษเด็ดขาดให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและตั้งใจกลับตัวเป็นคนดีของสังคม เพื่อที่จะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามหมายศาล อีกทั้งเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขฟื้นฟูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความผิดให้ประพฤติตนเป็นคนดีและกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติ ทำให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อตัวผู้กระทำความผิดและสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพักการลงโทษขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนรวม ดังนั้น การพิจารณาพักการลงโทษควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้นักโทษเด็ดขาดที่ยังคงเป็นอันตรายได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนเวลาอันควร อีกทั้งควรมีการสร้างความเข้าใจกับคนในสังคมเพื่อให้นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษ ไม่ถูกปฏิเสธจากสังคมและสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเป็นปกติ
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th