หนี้ครัวเรือน

ผู้เรียบเรียง :
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“หนี้ครัวเรือน” หมายถึง เงินที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศ โดยบุคคลธรรมดานั้นอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้จ่ายต่าง ๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หรือช่วงที่ประสบปัญหาการว่างงานหรือรายรับลดลง ข้อมูลหนี้ครัวเรือนครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน 2 กลุ่ม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บข้อมูลได้ กลุ่มแรก คือ สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันรับฝากเงินอื่น ๆ กลุ่มที่สอง คือ สถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โรงรับจำนำ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ
    
ปัจจัยที่ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากการที่หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ (non-productive loan) โดยร้อยละ 69 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565) ซึ่งมักเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในอนาคต และยังมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีสัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงใกล้เคียงกับไทย แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างรายได้หรือความมั่งคงได้ นอกจากนี้ หนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ ปัจจุบันคนไทยกว่า 5.8 ล้านคนกำลังมีหนี้เสีย (ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของคนไทยที่เป็นหนี้) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565) โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุดและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4 ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) สูงที่สุด สุ่มเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรืออาจชำระได้เพียงบางส่วน จึงทำให้มีโอกาสน้อยที่จะหลุดพ้นจากปัญหาได้ 

หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 พบว่า หนี้ครัวเรือนมีจำนวน 14.90 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.8 ต่อ GDP ชะลอตัวลงจากปี 2564 ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.1 ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอการบริโภคของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 89.7 จะพบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน ปี 2565 จากประชาชน 1,350 ตัวอย่าง พบว่า มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 501,711 บาท สูงสุดตั้งแต่เคยมีการสำรวจภาวะหนี้ภาคครัวเรือนไทย สาเหตุของการเป็นหนี้มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ตลอดจนการผ่อนสินค้ามากเกินไป รวมทั้งการขาดรายได้จากการออกจากงาน

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ แก้ไขตรงจุด และอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

ประการแรก ลูกหนี้ควรสำรวจความพร้อมและความจำเป็นก่อนก่อหนี้ วางแผนด้านการเงินและทำความเข้าใจสินเชื่อ มีวินัยในการชำระหนี้ตรงตามเวลาและเงื่อนไข ไม่ชำระหนี้แค่ขั้นต่ำ หากเริ่มชำระหนี้ไม่ได้จะต้องหาวิธีแก้ปัญหาจากช่องทางและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มี 

ประการที่สอง สถาบันการเงินผู้ให้กู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่รับผิดชอบควรปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกหนี้ จึงควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยไม่สะสมหนี้ และช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนดำเนินคดีในชั้นศาล 

ประการที่สาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันพัฒนากลไกการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหา ให้ความรู้ทางการเงิน ปรับปรุงฐานข้อมูลสินเชื่อให้สะท้อนความสามารถในการจ่ายหนี้ได้แม่นยำขึ้นโดยไม่ลดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมไปถึงการแก้ปัญหาด้านรายได้ให้มีเพียงพอและมั่นคง พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสวัสดิการรัฐให้เข้าถึงได้ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ

การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนควรดำเนินการอย่างครบวงจรเพื่อให้เหมาะกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ และต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้แก่ลูกหนี้ รวมทั้งไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ

ภาพปก