เทคโนโลยี AI กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ผู้เรียบเรียง :
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มีบทบาทสำคัญในการช่วยรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนความยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับงานสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือ การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทำให้สามารถตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศ การสร้างแผนที่ ระบุตำแหน่งที่อยู่ และจำนวนประชากรของสัตว์ป่า นก รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างการใช้เทคโนยี AI กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้

1. หยุดยั้งการลักลอบล่าสัตว์ อุทยานแห่งชาติ Kafue National Park ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐแซมเบีย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 22,400 ตารางกิโลเมตร เป็นที่อยู่ของช้างสะวันนาแอฟริกากว่า 6,600 ตัว ซึ่งอุทยานแห่งชาติฯ ประสบปัญหาการลักลอบล่าสัตว์และค้างาช้าง ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของสาธารณรัฐแซมเบีย ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อช่วยในการป้องกันการบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติฯ เริ่มด้วยการสร้างรั้วข้ามทะเลสาบประมาณ 19 กิโลเมตร และติดกล้องอินฟราเรด (FLIR) เฝ้าระวังทางเข้าออกขนาดใหญ่ของอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อควบคุมกิจกรรมการลักลอบที่ผิดกฎหมายและมีการแจ้งเตือนไปยังทีมงานเจ้าหน้าที่ทันที

2. ตรวจจับการสูญเสียแหล่งน้ำและลดความแห้งแล้ง ในสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลได้ใช้เทคโนโลยี AI ในระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแบบจำลองอัตโนมัติ (Machine Learning: ML) เพื่อประมวลผลภาพถ่ายมากกว่า 150,000 ภาพ จากดาวเทียมของนาซาเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของน้ำทั่วประเทศ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์โดย AI พบว่าแม่น้ำเนโกร (The Negro River) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่สูญเสียปริมาณน้ำผิวดินไปถึงร้อยละ 22 รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำเขตร้อน Pantanal สูญเสียปริมาณน้ำผิวดินไปถึงร้อยละ 74 ซึ่งผลกระทบจากการสูญเสียแหล่งน้ำผิวดินได้สร้างความเสียหายต่อประชาชน สัตว์ สิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอย่างมหาศาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา AI เพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายจากการสูญเสียของแหล่งน้ำดังกล่าว

3. ตรวจจับและค้นหาตำแหน่งปลาวาฬเพื่อหาพื้นที่คุ้มครอง โดยองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ได้ร่วมมือกับ Google AI for Social Good’s Bioacoustics ได้สร้างแบบจำลอง AI ที่สามารถจดจำเสียงของปลาวาฬหลังค่อม และแบบจำลองนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการระบุเสียงของปลาวาฬหลังค่อม รวมถึงสามารถรับรู้การมีอยู่ของปลาวาฬในหมู่เกาะฮาวาย หมู่เกาะมาเรียนาและแนวปะการังคิงแมน ที่ไม่เคยมีการบันทึกการมีอยู่ของปลาวาฬมาก่อน 

4. การอนุรักษ์โคอาลาและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ในประเทศออสเตรเลียประชากรโคอาลากำลังอยู่ในเกณฑ์ที่ลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากแหล่งที่อยู่ถูกทำลายจากอุบัติเหตุและไฟป่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ได้ทำการสร้างศูนย์ AI เพื่อการอนุรักษ์โคอาลา และสัตว์อื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยการใช้โดรนและภาพถ่ายภาพอินฟราเรด โดย AI ทำการตรวจจับคลื่นความร้อนและวิเคราะห์ว่าสิ่งมีชีวิตที่ตรวจจับได้เป็นโคอาลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และเริ่มใช้ระบบนี้หลังจากประเทศออสเตรเลียเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 2019 และ ค.ศ. 2020 ซึ่งจากการใช้งานสามารถวิเคราะห์วิดีโอที่บันทึกมาได้จำนวนนับไม่ถ้วนเพื่อสำรวจจำนวนประชากรโคอาลาและสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิดในป่าทึบ ซึ่งระบบนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของกลุ่มนักอนุรักษ์ และองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการปกป้องและติดตามชนิดพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

5. การสำรวจสปีชีส์สัตว์หายาก บริษัท Appsilon ร่วมกับมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง และอุทยานแห่งชาติของสาธารณรัฐกาบอง ทำการพัฒนา Mbaza AI ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานแห่งชาติโลเป และวากาในสาธารณรัฐกาบอง อันเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในลุ่มน้ำคองโก และถือเป็นป่าฝนขนาดใหญ่อันดับสองของโลก โดยการนำ AI มาทำการวิเคราะห์ภาพถ่ายกว่า 50,000 ภาพ ที่ถ่ายขึ้นจากกล้องดักจับกว่า 200 ตัว ที่ติดตั้งกระจายทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ อีกทั้งยังสามารถคัดและจำแนกภาพถ่ายได้กว่า 3,000 ภาพต่อชั่วโมง และมีความแม่นยำถึงร้อยละ 96 

6. ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ได้ประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) และใช้ AI พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยผลักดันช้างให้กลับเข้าป่าได้เกือบร้อยละ 100 แล้ว ในปี พ.ศ. 2562 สามารถยืนยันหลักฐานการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่าจากจำนวน 237 ตัว เป็น 400 ตัว 

วิวัฒนาการของ AI ได้ปรับปรุงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ไม่ได้จำกัดประโยชน์ไว้แค่ในอุตสาหกรรมไอทีเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายประโยชน์ให้กับทุกวงการและทุกอุตสาหกรรมทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งสามารถนำมาปรับใช้กับงานด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถระบุและตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างทันที อีกทั้งเพื่อประโยชน์แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำมาใช้วางแผนกลยุทธ์ การคาดการณ์ภัยคุกคามที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การนำข้อมูลจากเทคโนโลยี AI มาใช้จะช่วยลดการสูญเสียการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่จำเป็น รวมถึงสามารถช่วยในการวางแผนและการบริหารสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว
 

ภาพปก