อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “อปพร.” ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่เกิดขึ้นตามกฎหมายป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2522 โดยบทบัญญัติมาตรา 26 กำหนดให้จัดตั้งหน่วยอาสาสมัครขึ้นทุกเขตในกรุงเทพมหานครและทุกอำเภอทั่วราชอาณาจักร เพื่อช่วยเหลือในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ร่วมกับจังหวัด อำเภอ และเทศบาลต่าง ๆ จัดให้มีการฝึกอบรม อปพร. ขึ้น โดยในช่วงแรกมีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเพียง 13,390 คน ทำให้ไม่เพียงพอต่อภารกิจและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ต่อมาในปี 2531 ได้มีการจัดฝึกอบรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีกำลัง อปพร. ทั่วประเทศ จำนวน 630,844 คน และมีศูนย์ อปพร. จำนวน 8,790 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567) โดยกระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายที่จะให้มี อปพร. จำนวน 1 ล้านคน หรือร้อยละ 2 ของประชากรในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนภาคราชการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สำหรับผู้ที่จะเป็น อปพร. ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในเขตศูนย์ อปพร. นั้น และเป็นผู้ที่เลื่อมใสการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งต้องไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ที่มีประวัติเสื่อมเสียที่จะเป็นภัยต่อสังคม ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรม อปพร. จึงจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น อปพร. ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการป้องกัน ปราบปรามเหตุร้าย โดยการสำรวจสถานที่ต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้าย เช่น บริเวณมุมมืด จุดอับสายตา เป็นต้น อีกทั้งการอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยในชุมชน การช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยต่าง ๆ ตามหลักการแพทย์ จะเห็นได้ว่า อปพร. มีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังภัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ส่งผลให้ประชาชนหรือชุมชนมีความอบอุ่นใจ มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งทำให้อาชญากรรมลดลงด้วย

ในส่วนของค่าตอบแทนของ อปพร. นั้น ในช่วงแรกของการก่อตั้งจะมุ่งเน้นในเรื่องของจิตอาสาในชุมชนโดยไม่มีค่าตอบแทน ต่อมาได้มีการออกระเบียบกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ อปพร. โดยกำหนดค่าตอบแทนในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ คือ หากปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 100 บาท ถ้าปฏิบัติหน้าที่ 4-8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มอีก 100 บาท (รวมเป็นเงิน 200 บาท) และหากเกินกว่า 8 ชั่วโมงขึ้นไป จะได้รับค่าตอบแทน 300 บาท

ด้วยบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของ อปพร. กอปรกับเป็นผู้ที่มีจิตอาสาและเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม ดังนั้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ อปพร. นอกจากในเรื่องของค่าตอบแทนแล้ว ยังกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วัน อปพร.” โดยศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกลางและจังหวัดต่าง ๆ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูความสำคัญของ อปพร. รวมถึงการรวมพลังของเหล่าสมาชิก อปพร. แต่ละจังหวัด โดยมีการจัดพิธีชุมนุมและสวนสนามของสมาชิก อปพร. และภาคีเครือข่ายด้านสาธารณภัย มีการมอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนกิจการ อปพร. ของศูนย์ อปพร. จังหวัด การมอบรางวัลศูนย์ อปพร. ดีเด่น และ อปพร. ดีเด่นประจำปี โดยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร. ถือเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณภัยของประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

ภาพปก