นโยบายออฟเซต (Offset Policy) ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

ผู้เรียบเรียง :
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

นโยบายออฟเซต (Offset Policy) คือ นโยบายที่ประเทศผู้ซื้อยุทโธปกรณ์ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการซื้อหรือนำเข้ายุทโธปกรณ์ตามปกติ เพื่อให้ผู้ขายต้องชดเชยผลประโยชน์ตอบแทนกลับมายังประเทศผู้ซื้อผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะต้องมีมูลค่าเป็นสัดส่วนขั้นต่ำตามที่รัฐบาลผู้ซื้อกำหนดในสัญญา

ในโลกยุคปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีภัยคุกคามต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ และการใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิด ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ตลอดเวลา ดังนั้น ในการป้องกันประเทศจึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดเตรียมยุทโธปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการปกป้องอธิปไตยของชาติทั้งในยามสงบและยามสงคราม อีกทั้งการมียุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพและทันสมัยถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพในการแสดงศักยภาพด้านการป้องกันประเทศอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา การจัดหายุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน อย่างเช่น เรือดำน้ำ และเครื่องบินขับไล่ ต้องจัดหาจากต่างประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาโครงการการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของความทันสมัย ราคาที่แพงเกินไป รวมถึงความคุ้มค่าในการจัดซื้อ เพราะจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อเป็นจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาสูง ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทำให้มีการพูดถึงแนวคิดเรื่อง “นโยบายออฟเซต (Offset Policy)” กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นนโยบายที่นักวิชาการเห็นว่าหากนำมาใช้ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จะเกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

นโยบายออฟเซตเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อสร้างการต่อรองทางเศรษฐกิจกับบริษัทหรือประเทศผู้ขายยุทโธปกรณ์ โดยการชดเชยผลประโยชน์ซึ่งมักอยู่ในรูปของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมลงทุนกับรัฐหรือภาคเอกชนของประเทศผู้ซื้อ การร่วมมือวิจัยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีป้องกันประเทศขั้นสูง ทำให้เกิดการจ้างงาน อีกทั้งเป็นการยกระดับเทคโนโลยีป้องกันประเทศของประเทศผู้ซื้อ และสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศผู้ซื้ออีกด้วย

นโยบายออฟเซต แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

  1. 1. การชดเชยโดยตรง (Direct Offset) คือ การชดเชยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าในสัญญานั้น ๆ เช่น การเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดสายการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วน การผลิตร่วมกัน หรือการผลิตตามใบอนุญาตการอนุญาตขายสิทธิบัตรหรือใบอนุญาต และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น 
  2. 2. การชดเชยโดยอ้อม (Indirect Offset) คือ การชดเชยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริมด้านอื่น ๆ เช่น การให้คำปรึกษา การวิจัยร่วมกัน การให้งบประมาณช่วยเหลือด้านการศึกษา การอบรม การดูงาน การฝึกการใช้งาน และการซ่อมบำรุง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การชดเชยทั้งสองแบบไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด และในการทำสัญญาหนึ่งอาจมีการชดเชยทั้งสองประเภทอยู่ในสัญญาได้ 

นโยบายออฟเซตเป็นนโยบายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกว่า 130 ประเทศทั่วโลกในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องจัดซื้อสิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและราคาแพงทั้งในกิจการทหาร เช่น ยุทโธปกรณ์ และกิจการพลเรือน เช่น รถไฟฟ้า เครื่องบินพาณิชย์ ระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่นำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยประเทศที่ใช้นโยบายออฟเซตนั้นมีทั้งประเทศที่ใช้นโยบายออฟเซตแบบบังคับ โดยกำหนดข้อกำหนดชดเชยเข้าไปในขอบเขตของงาน หากผู้ขายไม่มีการเสนอการชดเชยก็จะไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งการใช้นโยบายแบบบังคับอาจบังคับให้ใช้เฉพาะในกิจการทางทหารเท่านั้น หรือทั้งกิจการทางทหารและกิจการพลเรือนด้วยก็ได้ ในขณะที่บางประเทศแม้ไม่บังคับให้ใช้นโยบายออฟเซต แต่จะมีการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้นำนโยบายออฟเซตมาใช้โดยมีสิ่งจูงใจเพิ่มเติมให้แก่หน่วยงานที่นำนโยบายออฟเซตมาใช้ เช่น การลดภาษีนำเข้า หรือได้รับความสะดวกจากรัฐบาลเพิ่มเติม ส่วนบริษัทต่างชาติที่ยื่นใบเสนอราคาอาจยื่นใบเสนอราคาโดยกำหนดข้อกำหนดชดเชยหรือไม่ก็ได้ แต่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มักจะเลือกจัดซื้อจากบริษัทที่ให้การชดเชยมากกว่า 

นโยบายออฟเซตเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประเทศผู้ซื้อในระยะยาวเพราะนอกจากจะได้สินค้าที่ต้องการแล้วยังได้ประโยชน์อื่นจากบริษัทผู้ขายอีกด้วย จึงเป็นนโยบายที่น่าสนใจในการศึกษาแนวทางการนำมาปรับใช้ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของไทยเพื่อให้การใช้งบประมาณในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มีความคุ้มค่าและเกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น
 

ภาพปก