อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ผู้เรียบเรียง :
ซันวา สุดตา, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ถนนราชดำเนินถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจะเห็นสถานที่สำคัญและเป็นที่รู้จักหลายแห่ง โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางสี่แยกถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนดินสอ อันเป็นอนุสรณ์สถานแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตว่า ยังมีอนุสรณ์สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนสายนี้ คือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” โดยตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว

โดยที่มา ความสำคัญ และเหตุผลที่สร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แห่งนี้ ขอย้อนไปในช่วงก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ในเอกสารประกอบนิทรรศการ 14 ตุลาคม 2516 ตอนหนึ่งว่า 

“...เผด็จการทหารทำให้สภาพการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้การจำกัดเสรีภาพของประชาชน อำนาจการเมืองการปกครองอยู่ในมือของคณาธิปไตยเพียงไม่กี่คน โดยมีกลไกของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นเครื่องมือ ภายใต้ระบบนี้ เครือข่ายกลุ่มปัญญาชนหนุ่มสาว เกิดความตื่นตัวทางปัญญา เริ่มตั้งคำถามต่อตนเองและสังคม ทำให้ตระหนักในบทบาทและศักยภาพของตน...” และอีกตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

“...16 ปี ภายใต้ระบบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส โครงสร้างทางการเมืองดำรงอยู่อย่างหยุดนิ่ง ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ส่งผลให้เผด็จการเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ สุกงอม การหลอมรวมพลังทางการเมืองครั้งสำคัญของสังคมไทยจึงเกิดขึ้น สิ่งนี้ระเบิดเป็นเหตุการณ์ “14 ตุลา” ที่จะต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ประชาชนตลอดไป”

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อเสนอว่าควรจะสร้างอนุสาวรีย์วีรชนขึ้น เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์และผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น โดยเบื้องต้นมีขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นเป็นแกนสำคัญในการผลักดัน ต่อมาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสัญญา  ธรรมศักดิ์ ได้ขานรับกระแสเรียกร้อง ด้วยการมีมติเห็นชอบให้สร้างอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลา (ชื่อเรียกในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2517 และเห็นพ้องกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ว่า 

“...เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็น “เจ้าของ” เหตุการณ์นั้น หากเป็นเรื่องของส่วนรวม ดังนั้น การสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จึงควรเป็นเรื่องของรัฐร่วมกับประชาชน และสถานที่ตั้งของอนุสรณ์สถานก็ควรจะอยู่ในบริเวณถนนราชดำเนินอันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ 14-16 ตุลาคม 2516...”

นอกจากนี้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมว่า

“...สิ่งก่อสร้างนี้ไม่ควรมีหน้าที่แค่ใช้รำลึกเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น แต่ควรจะเป็นอาคารอนุสรณ์สถานที่มีประโยชน์ใช้สอยด้วย...”

ภายหลังจากที่รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีมติให้สร้างอนุสรณ์สถานฯ แล้ว ก่อนจะมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถานนี้ขึ้น ได้พูดถึงหลักการและหน้าที่ของอนุสรณ์สถาน โดยคณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ภายใต้สังกัดมูลนิธิ 14 ตุลา ประกอบด้วยตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ญาติวีรชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธาน ได้มอบหมายให้นายเทิดเกียรติ  ศักดิ์คำดวง ผู้ชนะการประกวดแบบและเป็นผู้พัฒนาแบบให้เหมาะกับยุคสมัยด้วยแนวคิด 2 ประการ คือ ต้องเคารพความจริง
ของประวัติศาสตร์ และให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

จากแนวคิดดังกล่าว สถาปนิกได้นำไปพัฒนาแบบให้เป็นอนุสรณ์สถานที่เน้นความสงบนิ่ง โล่งกว้าง และเรียบง่าย เพื่อรำลึกและคารวะต่อวีรชน มีประติมากรรมรำลึกอยู่ใจกลางอาคาร ประกอบด้วยสวนหย่อม ลานกิจกรรมสำหรับการอภิปราย การแสดงดนตรี และการแสดงกลางแจ้งต่าง ๆ มีห้องประชุม ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

ลักษณะประติมากรรมที่ได้ออกแบบไว้นั้น ประกอบด้วยยอดสถูปมีลักษณะเป็นรูปทรงสากลที่แสดงถึงจิตวิญญาณสูงส่งของมวลมนุษย์ ปลายยอดสถูปมีรอยหยักคล้ายสร้างไม่เสร็จ เพื่อสื่อความหมายว่าภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด ซึ่งยอดปลายสถูปทำด้วยวัสดุโปร่งแสง เพื่อให้เห็นแสงไฟที่ส่องออกมาจากภายในตัวสถูป แฝงนัยถึงไฟแห่งประชาธิปไตยที่เป็นอมตะ ฐานสถูปทั้งสี่ด้านบุด้วยกระเบื้องดินเผาที่แข็งแกร่ง สลักรายชื่อวีรชน 14 ตุลา และรายล้อมด้วยแผ่นอิฐสลักบทกวีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสียสละ เด็กและผู้หญิง กรรมกรและชาวนา และยังมีแผ่นอิฐแกะลายจากแบบภาพถ่ายหรือภาพศิลปะจากการสร้างสรรค์ของศิลปิน เพื่อสื่อถึง การเติบโตงอกงามของสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นอกจากจะมีแนวคิดเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ เข้าใจถึงความจริงของประวัติศาสตร์ พร้อมเปิดรับแนวความคิดจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีประติมากรรมที่ออกแบบมาเพื่อสื่อความหมายให้เห็นถึงวีรกรรมของผู้ที่เสียสละ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และความเจริญงอกงามของประชาธิปไตยนั่นเอง

ภาพปก