ชวเลข: คุณค่าที่ควรรักษาคู่รัฐสภาไทย

ผู้เรียบเรียง :
ซันวา สุดตา, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ชวเลข (Shorthand) เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะในการใช้สัญลักษณ์แทนตัวอักษร เพื่อใช้จดรายงาน บันทึกคำอภิปราย หรือรายละเอียดของถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุม และนำชวเลขมาแปลเป็นตัวอักษรภาษาไทยเพื่อจัดทำเป็นรายงาน ซึ่งรายงานดังกล่าวสามารถนำมาเป็นเอกสารอ้างอิงการทำงาน หรือการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติที่ใช้อ้างอิงได้ในอนาคต

เจ้าหน้าที่ชวเลขหรือพนักงานชวเลขของสภาในอดีต มีหลักฐานปรากฏอ้างอิงจากหนังสือ “สี่สิบสองปีรัฐสภาไทย” ของนายประเสริฐ  ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้บรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งพนักงานชวเลข ชั้นรองผู้รักษาการในสมัยนั้น เขียนไว้ในคำปรารภทำให้ทราบว่าตั้งแต่แรกเริ่มที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในส่วนของผู้จดรายงานการประชุม ได้ยืมตัวหลวงชวเลขปรีชา และนายสิงห์ กลางวิสัย มาช่วยจดรายงานการประชุมเฉพาะวันประชุมสภา ต่อจากนั้นเมื่อตั้งกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2476 จึงได้เริ่มบรรจุข้าราชการตำแหน่งพนักงานชวเลข ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแผนกรายงานการประชุม กองการประชุม และในกองกรรมาธิการบ้างเพียงเล็กน้อย

ในปี พ.ศ. 2505 สมัยนายประเสริฐ  ปัทมสุคนธ์ เป็นเลขาธิการรัฐสภา ได้จัดให้มีการสอนวิชาชวเลขให้กับข้าราชการและผู้เข้าสมัครฝึกงานในสำนักงาน โดยให้นักชวเลขในแผนกรายงานการประชุม กองการประชุม เป็นคณะอาจารย์ผู้ฝึกสอน

ในปี พ.ศ. 2517 สมัยนายประสิทธิ์  ศรีสุชาติ เป็นเลขาธิการรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้เห็นถึงความสำคัญและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานชวเลข จึงได้รวบรวมพนักงานชวเลขซึ่งอยู่ในกองการประชุมและกองกรรมาธิการเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป็น “ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด” มีภารกิจหน้าที่ด้านการจดและจัดทำรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และคณะกรรมาธิการ มีนายธนู  บุณยรังคะ เป็นหัวหน้าศูนย์ และในปี พ.ศ. 2535 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา โดยแยกเป็น 2 สำนักงาน คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละสำนักงาน ประกอบด้วยกองและศูนย์ มีผู้อำนวยการกองและผู้อำนวยการศูนย์ เป็นผู้ควบคุมดูแล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในใหม่ โดยนำฝ่ายรายงานการประชุมจาก “สำนักการประชุม” เข้ารวมอยู่ใน “ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด” และเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักรายงานการประชุมและชวเลข” และยังคงใช้ตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ชวเลข” และเมื่อได้ปรับระดับตำแหน่งและประเภทของสายงาน จึงเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ชวเลข” มาเป็น “เจ้าพนักงานชวเลข” เพื่อให้รองรับภารกิจด้านรายงานการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาที่ชัดเจนมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) มีมติให้เปลี่ยนชื่อมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและระดับของ “เจ้าพนักงานชวเลข” เป็น “เจ้าพนักงานจัดทำรายงานการประชุม” จนถึงปัจจุบัน 

จากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การสื่อสาร เพื่อรองรับความต้องการของมนุษย์มากมาย แต่งานชวเลข การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เจ้าพนักงานชวเลขสามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยในมุมมองของคนทั่วไปเห็นว่าวิชาชวเลขเป็นวิชาที่ล้าสมัย เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน และหลายหน่วยงานมิได้มีการใช้ชวเลขในการจดบันทึกดังกล่าวแล้ว แต่ในการดำเนินงานของรัฐสภานั้น ชวเลข คือ หัวใจสำคัญของการประชุมสภา เพราะการจดชวเลขเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ทั้งในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ การประชุมคณะอนุกรรมาธิการ การประชุมคณะกรรมการ การประชุมคณะอนุกรรมการ การประชุมคณะทำงาน หรือการประชุมใดที่มีความจำเป็นต้องใช้ชวเลข

ทั้งนี้ “เจ้าพนักงานจัดทำรายงานการประชุม” หรือ “เจ้าพนักงานชวเลข” เดิม นอกจากทำหน้าที่ในการจดบันทึกถ้อยคำของสมาชิกแต่ละคนที่อภิปรายด้วยภาษาชวเลขแล้ว การแก้ปัญหาในเหตุการณ์เฉพาะหน้า กรณีห้องประชุมสภามีการบันทึกเหตุการณ์หน้าบัลลังก์ หรือเกิดเหตุขัดข้องในการใช้อุปกรณ์การบันทึกเสียง หรือไมโครโฟน เจ้าพนักงานผู้จดชวเลขยังสามารถตอบประเด็นอภิปรายได้ทันที เพราะสามารถจดถ้อยคำของผู้อภิปราย รวมทั้งจดจำรายละเอียดของเหตุการณ์ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ประกอบกับการใช้เทคนิคส่วนบุคคลในการจำเสียงของผู้อภิปรายได้โดยไม่ต้องเสียเวลามองว่าผู้กำลังอภิปรายว่าเป็นใคร ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ไม่สามารถปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวได้ 

“ชวเลข” ได้เกิดเคียงคู่รัฐสภาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 91 ปี ผลผลิตที่ได้ คือ บันทึกการประชุมและรายงานการประชุมที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงและประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย จะเห็นได้ว่าชวเลขนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ผ่านตัวอักษร ดังนั้น จึงควรตระหนักถึงคุณค่าของงานชวเลขที่ควรร่วมอนุรักษ์วิชาชวเลขและการจดชวเลขให้มีบทบาทต่อภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
 

ภาพปก