“เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน: นวัตกรรมลดการปล่อย CO2”

ผู้เรียบเรียง :
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันหลายประเทศได้ตระหนักและตื่นตัวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้น จึงร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และให้ความสำคัญกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2593 จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้ภาคพลังงานของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าร้อยละ 70 ต้องเริ่มปรับตัว โดยภาคพลังงานต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากปัจจุบันอยู่ที่ 250-260 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ให้อยู่ที่ 95.50 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 90 ปัจจุบันมีแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “การกักเก็บคาร์บอนเพื่อใช้ประโยชน์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)” เพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เพราะก๊าซดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อน

เทคโนโลยี CCUS เป็นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถูกปล่อยจากแหล่งกำเนิดก๊าซขนาดใหญ่ที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศ หรือโดยอ้อมด้วยการเปลี่ยนก๊าซทางเคมีแล้วขนส่งต่อทางท่อหรือวิธีการขนส่งอื่น ๆ เพื่อไปจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่ก๊าซไม่สามารถหลุดออกมาภายนอกได้ อาทิ การอัดฉีดก๊าซไว้ในโพรงหินลึกใต้ดินที่เดิมเป็นแหล่งสะสมน้ำมันแล้วถูกสูบออกไปใช้หมดแล้ว และเทคโนโลยี CCUS ยังสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ไปใช้ประโยชน์ให้หมดไปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยก๊าซในขั้นตอนการผลิต เช่น การผลิตปุ๋ย เป็นต้น เทคโนโลยี CCUS มีใช้มานานทั้งในสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และราชอาณาจักรนอร์เวย์ เป็นต้น เป็นเทคโนโลยียังมีต้นทุนสูงทำให้โครงการ CCUS จึงยังไม่แพร่หลายนัก แต่เป็นที่ยอมรับและรับรองในระดับสากลว่ามีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในอนาคต

การใช้เทคโนโลยี CCUS ในประเทศไทย โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ (ปตท.สผ.) ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมของการสำรวจและผลิต (E&P) มาต่อยอดการพัฒนาเป็น “โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)” เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม โดยนำก๊าซที่ได้จากการผลิตปิโตรเลียมอัดกลับไปในหลุมผลิตปิโตรเลียมเดิมที่ไม่ได้ผลิตแล้ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศประเมินว่า เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น โดยจะมีการจัดการและติดตามตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม และใช้หลุมผลิตปิโตรเลียมเดิมในแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ ซึ่งเป็นแท่นผลิตและขุดเจาะขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ที่บริษัทเป็นเจ้าของสัมปทานมาใช้กักเก็บเบื้องต้นประมาณ 4-5 หลุม โดยตั้งเป้าในเฟสแรกจะสามารถกักเก็บในแหล่งอาทิตย์ได้ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากได้ นอกจากนี้ หากมีการนำหลุมปิโตรเลียมอื่นที่ไม่ได้ผลิตแล้วมากักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนจะได้มากถึงระดับ 40 ล้านตัน แต่ยังติดข้อจำกัดทางกฎหมายในการเข้าใช้พื้นที่

โครงการ CCS ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน ดังนั้น รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎ ระเบียบ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของในอ่าวไทย และควรกำหนดนโยบายและปัจจัยส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยตามเป้าหมายในปี พ.ศ. 2569 และควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ น้ำ และลม เป็นต้น และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยอนุรักษ์ ปกป้องธรรมชาติ และรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับรักษาการเติบโตทางธุรกิจจะส่งผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว รวมถึงทุกภาคส่วนต้องมีจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ภาพปก