มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หมายถึง ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชนยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน
ในปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปใช้ในทางที่บิดเบือนหรือไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านั้นต้องเสื่อมสูญ ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงได้ทำการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้มีความสืบเนื่องและยั่งยืนสืบไป โดยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมถึงคุ้มครองป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีไว้
การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาตินั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้กำหนดลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อการขึ้นบัญชีไว้รวม 6 สาขา ดังนี้
ส่วนการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้แบ่งไว้เป็น 3 รายการ ดังนี้
ในปัจจุบันองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติในประเทศไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติ ดังนี้
1. โขน (Khon, Masked Dance Drama in Thailand)
โขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ใช้แสดงในงานมหรสพหลวงและพิธีต่าง ๆ สำหรับสร้างความบันเทิงและเป็นสื่อเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสอดแทรกคติธรรมสู่ผู้ชมการแสดง ปัจจุบันมีคณะโขนเกิดขึ้นหลายคณะ มีการถ่ายทอดพัฒนาการรุ่นสู่รุ่นจนเป็นเอกลักษณ์ โขนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติใน พ.ศ. 2561
2. การนวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage)
นวดไทยเป็นศาสตร์และศิลป์สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพและบำบัดความเจ็บป่วยคนไทยมานานกว่า 600 ปี มีการถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น มีการนำนวดไทยไปใช้ประโยชน์กว้างขวางในระบบบริการสุขภาพและการรักษาทางเลือก การนวดไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติใน พ.ศ. 2562
3. โนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand)
โนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านเป็นที่นิยมของคนภาคใต้ ผูกพันกับวิถีชีวิตคนภาคใต้มายาวนาน มีแบบแผนการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ โนราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติใน พ.ศ. 2564
4. สงกรานต์ (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival)
สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงามอ่อนโยนเต็มไปด้วยบรรยากาศความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการเคารพ สะท้อนถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน ใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี มีแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมา แตกต่างกันตามความเชื่อและแนวปฏิบัติของคนไทยแต่ละภูมิภาค สงกรานต์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติใน พ.ศ. 2566
การที่ประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาตินั้น ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นในระดับนานาชาติ คนไทยมีความภาคภูมิใจ รัฐบาลควรคุ้มครองรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านั้นให้ยั่งยืนสืบไป และควรประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับมนุษยชาติของประเทศไทย เป็นการช่วยสร้างรายได้และเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศอีกด้วย
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th