บทกำหนดโทษตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ : การลักลอบนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ประกาศใช้บังคับมากว่า 90 ปี โดยตราเป็นพระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ พุทธศักราช 2474 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและให้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์อีกหลายฉบับ เนื่องจากได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในขณะนั้น จนกระทั่งปัจจุบันได้ประกาศใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 นับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ และการทำงานของสัตวแพทย์ สารวัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ 

โดยพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ภายในประเทศ และการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์จากต่างประเทศมีโอกาสแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย โดยควบคุมขั้นตอนการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร การชะลอนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์จากประเทศที่พบการระบาด ตลอดจนการใช้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งที่ผ่านมามักพบลักษณะการลักลอบนำเข้าตามบริเวณแนวชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร หรือการนำเข้าผ่านทางท่าเข้าด่านศุลกากรโดยใช้วิธีการปลอมแปลงเอกสาร หรือสำแดงเอกสารเท็จเป็นสินค้าอื่นแล้วเคลื่อนย้ายนำไปเก็บที่สถานประกอบการห้องเย็นเพื่อนำไปจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามลักษณะดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย โดยมีบทกำหนดโทษ ดังนี้

1) กรณีลักลอบนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรตามบริเวณแนวชายแดน ท่าอากาศยาน หรือท่าเรือ เป็นการกระทำความผิดนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (มาตรา 31) มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 68)

2) กรณีลักลอบนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรขณะเคลื่อนย้ายภายในประเทศ หรือตรวจพบในห้องเย็นหรืออาคารสถานที่ใด ที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศโดยไม่มีใบอนุญาตนำเข้าหรือใบอนุญาตเคลื่อนย้าย ได้แก่

  • การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดสัตว์ เขตปลอดโรคระบาดสัตว์ หรือเขตกันชนโรคระบาดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือสัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (มาตรา 18) มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 65)
  • การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาดหรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ (มาตรา 22) มีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 65)
  • การนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทาง (มาตรา 34) มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 71)
  • การนำเข้าราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 31) มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 68)
  • การทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลาง ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (มาตรา 24) มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 66)

แม้ว่าจะมีการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ โดยมีการควบคุม การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์หรือซากสัตว์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ และมีบทกำหนดโทษสูงสุด ปรับไม่เกินสองแสนบาท จำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์ แต่ยังพบการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยภายในประเทศ และความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมการค้าภายใน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และมีนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจังและเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ภาคการเกษตร และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ

ภาพปก