ปัญญาประดิษฐ์กับแง่มุมทางกฎหมาย

ผู้เรียบเรียง :
สิริพิชญ์ชนก คุณประเสริฐ, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สามารถเลียนแบบความสามารถของมนุษย์อันซับซ้อนได้ เช่น จดจำ แยกแยะ ให้เหตุผล ตัดสินใจ คาดการณ์ และการสื่อสารกับมนุษย์ ในบางกรณี AI อาจมีความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในปัจจุบันสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายแง่มุม โดยเฉพาะในแง่มุมที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้กฎหมาย ดังต่อไปนี้

1. ประเด็นความรับผิดทางแพ่งหากกรณีการทำงานของระบบ AI ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคค

ปัจจุบันภายใต้กฎหมายไทย ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดพลาดของ AI จะฟ้อง AI โดยตรงไม่ได้ เนื่องจาก AI ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล (Personality) เมื่อ AI ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ได้รับความเสียหายอาจสามารถดำเนินคดีได้ตามฐานกฎหมาย โดยการฟ้องละเมิดต่อผู้ครอบครองหรือควบคุม AI ให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น” ยกตัวอย่างเช่น ความเสียหายที่เกิดจากการทำงานผิดพลาดของ AI ในรถยนต์อัจฉริยะหรือหุ่นยนต์ AI ผู้เสียหายอาจฟ้องคดีต่อผู้ควบคุมหรือครอบครอง AI นั้น ๆ ได้

หากกรณีความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากของ AI เอง เช่น ระบบรวน หรือ AI ดำเนินการไปเอง โดยที่
ผู้ควบคุมหรือครอบครองไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ผู้ควบคุมหรือครอบครองจะต้องรับผิดตามมาตรานี้หรือไม่นั้น มีข้อพิจารณาในเรื่องการฟ้องผู้ประกอบการ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียกค่าเสียหายเพื่อเยียวยาได้เป็นสองเท่าของค่าเสียหายตามความเป็นจริง รวมไปถึงสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทางจิตใจได้อีกด้วย

2. ประเด็นลิขสิทธิ์กรณีเกิดผลงานสร้างสรรค์จากระบบ AI

โดยหลักลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกทางความคิดของผู้ที่สร้างสรรค์งานต้นฉบับขึ้นด้วยตนเอง (Originality) โดยต้องมีการใช้แรงงาน ทักษะ กระบวนการตัดสินใจและความพยายามของผู้สร้างสรรค์ผลงาน จนกระทั่งออกมาเป็นงานศิลป์ งานเพลง หรืองานวรรณกรรมต่าง ๆ และการคุ้มครองลิขสิทธิ์ยังเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ให้รางวัลตอบแทนความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกมาสู่สังคมอีกด้วย

ในปัจจุบันความก้าวหน้าของ AI ที่สามารถตัดสินใจได้เอง โดยอาศัยเทคโนโลยี Machine Learning ในกระบวนการสร้างสรรค์ โดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์และเป็นอิสระตลอดกระบวนการ
หรืออาจอาศัยการป้อนคำสั่ง โดยมนุษย์เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น แต่สามารถใช้วิจารณญาณในการสร้างผลงานได้ด้วยตนเอง แต่ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่ถือว่า AI เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน เนื่องจากตามหลักลิขสิทธิ์ได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นรางวัลแก่ทักษะ แรงงาน และกระบวนการตัดสินใจ แม้ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายของประเทศใดห้ามการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างโดย AI ไว้ชัดเจน แต่หลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาปฏิเสธความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่ผลงานที่ถูกสร้างโดย AI เนื่องจากขาดองค์ประกอบของ “การถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์” (Human Authorship) ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะ “ผลของแรงงานทางปัญญา (Fruits of Intellectual Labor)” ที่ “สร้างสรรค์ขึ้นโดยจิตใจของมนุษย์ (Creative power of mind)”

3. เทคโนโลยีกับการนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์

เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะต้องนำเอาข้อมูลมาประมวลผล ซึ่งในการประมวลผลของ AI นั้นเกิดจากฐานข้อมูลที่ผู้ให้บริการใส่เข้าไปในระบบ AI และเรียนรู้จากตัวอย่าง (คือฐานข้อมูล) ดังนั้น ประเด็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูล ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูล คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในกรณีการนำข้อมูลไปแสวงหาประโยชน์หรือเปิดเผยโดยมิชอบหรือโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษทางอาญา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการประมวลผลของ AI ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งผลักดันปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ครอบคลุมกรณีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้กับระบบ AI

ภาพปก