แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP)

ผู้เรียบเรียง :
ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เป็นข้อตกลงร่วมกันของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดทำขึ้นในห้วงเวลาที่พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ซึ่งเป็นการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566

การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุยฯ หรือที่เรียกว่า Road Map หรือ “แผนที่การเดินทาง” ในการทำงานของคณะพูดคุยฯ ทั้งสองฝ่ายให้มีความคืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดยหลักการสำคัญของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวมมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ 1) การลดความรุนแรงในพื้นที่ 2) การมีเวทีปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  1. 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ เป็นการลดความรุนแรงและการยุติความเป็นปรปักษ์เพื่อเป็นหลักประกันความมุ่งมั่นและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างสันติ และความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ การดำเนินการปรึกษาหารือสาธารณะให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ส่งเสริมความน่าเชื่อถือของกระบวนการสร้างสันติภาพ และยังทำให้ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนอีกด้วย
  2. 2. การมีเวทีปรึกษาหารือกับประชาชน จะต้องเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยและครอบคลุมในการจัดตั้งเวทีและกิจกรรมการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องในชุมชนปาตานี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยยึดหลักศักดิ์ศรี ความปลอดภัยและเสรีภาพในการแสดงออก โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดตั้งเวทีและกิจกรรมให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องในชุมชนปาตานีได้อย่างปลอดภัยและเปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้าร่วม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคง โดยสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของฟอรัม การสัมมนา การอภิปราย เวิร์กชอป การเสวนา การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม แบบสำรวจ หรือแพลตฟอร์มเสมือนจริง จะดำเนินการไปพร้อมกับการลดความรุนแรงและให้คำมั่นว่าพื้นที่ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจะไม่กลายเป็นพื้นที่สำหรับสร้างการโฆษณาชวนเชื่อ ยุยงให้เกิดความรุนแรง หรือดูหมิ่นซึ่งกันและกัน
  3. 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ทางการไทยจะต้องให้การคุ้มครองและหลักประกันที่ปลอดภัย ในการปรึกษาหารือสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในลักษณะที่ปลอดภัยและครอบคลุม ให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นสามารถหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตามหลักการของศักดิ์ศรี ความปลอดภัย เสรีภาพในการพูด และเจตจำนงของชุมชนปาตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด คือ
  • 1) คณะกรรมการด้านการฟื้นฟู
  • 2) คณะกรรมการเพื่อการปกครองแบบกระจายอำนาจและประชาธิปไตย และ
  • 3) คณะกรรมการเพื่อเอกลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม และการศึกษาของชุมชนปาตานี และจะมีการขยายเวลาเพิ่มเติม ที่จะมีการตกลงโดยพิจารณาจากความคืบหน้าที่น่าพอใจในการเจรจา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เช่น รูปแบบการปกครอง การยอมรับอัตลักษณ์ชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและกฎหมาย เศรษฐกิจและการพัฒนา การศึกษา วัฒนธรรม ความปลอดภัยและความมั่นคง ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของชุมชนปาตานี

สำหรับความก้าวหน้าล่าสุดหลังจากที่คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้นำโดยนายฉัตรชัย บางชวด ได้มีการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการต่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวมใน 3 ประเด็นดังกล่าว และจะได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการในโอกาสแรกที่มีการประชุมครั้งต่อไป

ภาพปก