ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มจะใช้ชีวิตเป็นโสดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป และเอเชีย จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในหลายประเทศ และฐานข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ปี 2566 ระบุว่า มีจำนวนคนโสดทั่วโลกมากถึง 2.12 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วโลก โดยประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรมากที่สุดในโลก คือ เดนมาร์ก รองลงมา คือ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ และเบลเยียม ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่พร้อมในการสร้างครอบครัว เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า และการมีวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตน (Individualization) ที่ชัดเจน และหยั่งรากลึกในสังคมของยุโรปมาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนในเอเชีย พบว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดสูงสุด อยู่ที่ 15 ของโลก โดยมีคนโสด ร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสถิติดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลสัดส่วนคนโสดในหลายประเทศ อาทิ ปี 2566 สหรัฐอเมริกา ประชากรร้อยละ 40 ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวโดยไม่มีคู่ครอง และราวอีกครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ยังไม่สนใจในการหาคู่ครอง หรือการคบหาเพื่อสานสัมพันธ์กับใครอีกด้วย เยอรมนี คนที่เลือกจะเป็นโสด มีจำนวน 5.18 ล้านคน ญี่ปุ่น ปี 2565 พบว่า 1 ใน 4 ของประชากรวัย 30-40 ปี เป็นโสด ส่วนจีนจำนวนคนโสดกำลังเพิ่มขึ้นไปถึง 400 ล้านคน ในระยะเวลาอีกไม่นาน
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะพบว่าคนโสดกำลังเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทั่วโลกแล้วยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและการบริโภคอย่างมาก เนื่องจากมีกำลังซื้อสินค้าและบริการสูงมากกว่าคนกลุ่มอื่น สาเหตุเกิดจากการไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบสูงเท่ากลุ่มคนมีครอบครัว ทำให้สามารถตัดสินใจใช้จ่ายได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องปรึกษาใคร มักจะใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความชอบ และความต้องการของตัวเองโดยไม่เสียดาย ซึ่งพฤติกรรมในการใช้จ่ายของคนโสดดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เกิด “Solo Economy” หรือเรียกว่า “เศรษฐกิจคนโสด” เป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดจากทัศนคติและค่านิยมของคนยุคใหม่
ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความเหงา และรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของคนโสดจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นการสร้างโอกาสของภาคธุรกิจในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์คนโสดที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวได้อย่างมีความสุข และคลายความเหงาได้ เช่น
สำหรับประเทศไทย พบว่า ปี 2565 มีครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 26.1 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก แต่เมื่อพิจารณาธุรกิจในไทย พบว่า ยังไม่ค่อยมีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับคนกลุ่มนี้มากนัก มีเพียงการส่งเสริมในภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจร้านอาหารที่รองรับลูกค้าที่มาคนเดียวเท่านั้น ดังนั้น หากภาคธุรกิจไทยมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อคนกลุ่มดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น นอกจากจะสร้างรายได้และมูลค่าเป็นจำนวนมากให้กับภาคธุรกิจในประเทศแล้ว ยังสามารถขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้อีกด้วย
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th