สะเต็มศึกษา (STEM Education)

ผู้เรียบเรียง :
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 เรื่อง "สะเต็มศึกษา : วัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับกำลังคนในศตวรรษที่ 21"ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และเพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนในศตวรรษที่ 21 กระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "..สะเต็มศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมีการจัดการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว เช่น โครงการเรียนรู้ฐานวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ด้วยสะเต็มศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรเน้นกิจกรรมที่บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงความรู้ สู่การทำงานในชีวิตจริง ผู้เรียนจะเรียนวิทยาศาสุตร์และคณิตศาสตร์ด้วยความสนุก พร้อมทั้งตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนต้องมีความรู้ด้านศิลปะ ภาษา สังคมศาสตร์ และอื่น ๆ ร่วมด้วย กระบวนการเรียนรู้นี้ยังกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน เป็นกระบวนการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในฐานะนักการศึกษา ข้าพเจ้าทราบว่า สะเต็มศึกษามีคุณค่าในการสร้างทักษะ คุณลักษณะของนักเรียน และผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ..." จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับสถานการณ์ของสังคมโลกปัจจุบันนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการที่ต้องแข่งขันเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้า ดังนั้น สะเต็มศึกษา (STEM Education) จึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย

สะเต็ม (STEM) เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา คือ S มาจากคำว่า วิทยาศาสตร์ (Science) T มาจากคำว่า เทคโนโลยี (Technology) E มาจากคำว่า วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ M มาจากคำว่า คณิตศาสตร์ (Mathematics) หมายถึงองค์ความรู้ ทางวิชาการของศาสตร์ทั้งสี่สาขาที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งในโลกของความเป็นจริงต้องอาศัยองค์ความรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน โดย STEM มีจุดเริ่มต้นมาจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (National Saence Foundation: NSF) ซึ่งหมายถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์

สะเต็มศึกษา (STEM Education) คือ การจัดการศึกษาที่บูรณการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยนำจุดเด่นของธรรมชาติตลอดจนวิธีการสอนของแต่ละสาขาวิชามาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิดคำถาม การแก้ปัญหาและการคันคว้าข้อมูลวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ ๆ และนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความมั่นคงของชาติ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ยุทธศาสตร์สำคัญในการจัดการเรียนของสะเต็มศึกษา
การจัดการเรียนรู้ของสะเต็มศึกษาในประเทศไทย จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์สำคัญ ไว้ดังนี้
1. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรมีบทบาทเข้ามาร่วมจัด "สะเต็มศึกษา " รัฐควรออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้สะเต็ม หรือสะเต็มศึกษา และภาคเอกชน
ควรสนับสนุนสะเต็มศึกษาโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR)
2. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาในชีวิตจริง ทั้งในและนอกห้องเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
3. การพัฒนาครูและบุคลากรสะเต็ม ให้สามารถนำกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ครูควรได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม และมีโอกาสรับคำแนะนำจากผู้ประกอบอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านสะเต็ม ซึ่งเรียกผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ว่า "ทูตสะเต็ม" (STEM Ambassador)
4. การปรับเปลี่ยนการประเมินในโรงเรียน และระดับชาติ ให้สอดคล้องกับสะเต็มศึกษา โดยมุ่งเน้นการประเมินความรู้ ควบคู่ไปกับทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และพัฒนาระบบการประเมินให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาในชีวิตจริงปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการเรียนการสอนทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวคือ จำนวนผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีลดลงตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ประกอบกับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ บ่งชี้ว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียนนั้นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพให้มากขึ้น ดังนั้น "สะเต็มศึกษา" (STEM Education) จึงเป็นการจัดการศึกษารูปแบบหนึ่งที่จะช่วยยกระตับคุณภาพการศึกษาของไทยให้พัฒนาไปได้

ภาพปก