พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ทุกแขนง จนอาจกล่าวได้ว่าทรงเป็นปราชญ์โดยแท้ ซึ่งองค์ความรู้ที่ทรงสั่งสมและถ่ายทอดเผยแพร่ไว้ให้แก่คนไทยนั้นเป็นที่ยอมรับและเรียกกันว่า "ศาสตร์พระราชา" โดยทรงมีพระราชปณิธานในการพระราชทานความรู้ต่าง ๆ ไว้เพื่อให้คนไทยทั้งปวงได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้อย่างเหมาะสมและสามารถใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกินพอเหมาะ พอสม ไม่ฟุ่มเฟือย หรือประหยัดจนเกินไป มีชีวิตที่มีคุณภาพในทุก ๆ ด้านเพื่อการอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินไทยอย่างมีความสุขอันป็นการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีประโยชน์ต่อพสกนิกรในชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรมีสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดศาสตร์พระราชาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจในหลักคิดและแนวปฏิบัติอย่างถูกต้อง
คณะรัฐมนตรี ชุดที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันภูมิราชธรรมขึ้นมา เพื่อมาเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ด้านศาสตร์พระราชาโดยตรง และมีการเสนอ "ร่างพระราชบัญญัติสถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ.... ..." ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยมี หลักการ ว่า "ให้มีกฎหมายว่าด้วยสถาบันภูมิราชธรรม" และ เหตุผล คือ "ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี เมื่อวันที่ มิถุนายน พุทธศักราช 2559 สมควรจัดตั้งสถาบันภูมิราชธรรมเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณด้านการศึกษาและศิลปวิทยาการ ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ทุกแขนง ตลอดจนน้อมนำพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพที่ทรงมีอยู่เต็มเปี่ยมในความรู้ทุกด้านและได้ยังให้เกิดประโยชน์สุขแก่พสกนิกรมาช้านาน มาเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีอยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของประชาชาติไทยไปในอนาคตกาลโดยไม่มีวันสูญสิ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้" ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 1 ธันว่าคม 2559 และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิกรของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาชุดปัจจุบันแล้ว สถาบันภูมิราชธรรมก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง โดย จะสร้างอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จำนวนพื้นที่ 436 ไร่ มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้ จะเปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาและการฝึกอบรม เพื่อผลิตทั้งนักวิชาการและผู้มีวิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบุกเบิก แสวงหา และเป็นคลังความรู้ จัดการศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้งบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติปัญญา เผยแพร่ความรู้ จัดการอบรม และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมและประเทศ สถาบันมุ่งหวังให้บัณฑิตมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ มีความซื่อสัตย์ อ่อนโยน ความเพียร ความอดทนอดกลั้น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีจิตสำนึกช่วยเหลือผู้ที่ด้อยและอ่อนแอกว่ามีจิตใจเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และตั้งมั่นในความยุติธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามนอกจากนี้ ยังควรเป็นสถาบันที่สืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อให้ประชาชนทุกระดับเกิดความเข้าใจสืบไป
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th