วันเด็กแห่งชาติ

ผู้เรียบเรียง :
จำเรียง ระวังสำโรง, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า "เด็ก" คือ คนที่มีอายุยังน้อย หรือผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ซึ่งอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส บุคคลอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีลงมาบุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ยังเล็ก อ่อนวัยกว่าในคำว่า เด็กกว่า เช่น เด็กชาย คือ คำนำหน้าชื่อเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ เด็กหญิง คือ คำนำหน้าชื่อเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์

เด็กเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคง ควรประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ที่มีความสำคัญของประเทศชาติ  มีความขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้  มีความรับผิดชอบ รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย ขยันขันแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสียสละรู้จักสิทธิหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งรักษาความสะอาดและรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสาธารณสมบัติถ้าหากเด็กตระหนักถึงอนาคตของตนเองและของชาติโดยการปฏิบัติตนตามที่กล่าวมานั้น ก็จะได้ชื่อว่าเป็นเด็กดี และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง

ในขณะเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตน รัฐบาลจึงได้สนับสนุนให้มีการจัดงานวันเต็กแห่งชาติขึ้น โดยงานวันเด็กครั้งแรกได้จัดขึ้น ในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 และถือปฏิบัติเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2506 แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝน และเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย จึงได้ถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ ในการจัดงานวันเด็กแห่งชาตินั้น ทางรัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนเพื่อจะได้จัดฉลองพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง มีระเบียบวินัย ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความภูมิใจในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ยืดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในวันเด็กแห่งชาตินี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็กเป็นประจำทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กที่นายกรัฐมนตรีมอบให้ มีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญแก่เด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ ซึ่งจะมอบก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในวันนี้สถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น สวนสัตว์ กองทัพบก กองทัพเรือ และฐานทัพอากาศ ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภาต่างร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เข้าเยี่ยมชมกันอย่างสนุกสนานเด็ก ๆ ทุกคนต่างก็รอคอยให้ถึงวันนี้

วันเด็กแห่งชาติ จึงไม่ใช่เพียงวันที่จะให้ความสำคัญแก่เด็กเท่านั้น แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงความสำคัญของเด็กว่า เด็กทุกคนในโลกนี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เกิดมาพร้อมสิทธิต่าง ๆ ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิด และถูกแสวงประโยชน์ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและมั่นคงต่อไป ดังคำพูดที่เราทุกคนได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็ก คือ อนาคตของชาติเด็กฉลาด ชาติเจริญ"

ภาพปก