อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ผู้เรียบเรียง :
รติมา คชนันทน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) ได้ให้คำนิยามของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ว่าเป็น "อัตราค่าจ้างที่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน ซึ่งช่วยปกป้องแรงงานให้พ้นความยากจน (Poverty Safety Net และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้กับแรงงาน (Fair Wage)" ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองแรงงานจากการแสวงหาผลประโยชน์จากนายจ้างและถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานพึงมี โดยประสบการณ์จากต่างประเทศชี้ว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสามารถกำหนดเป็นการทั่วไป (generally applicable) ในทุกสาขาอาชีพ อาทิ สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ โปรตุกส และอังกฤษ หรือจะกำหนดแบบเฉพาะเจาะจงในบางสาขาอาชีพ อาทิ ไชปรัส ก็ได้ และยังคงมีอีกหลายประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ก อิตาลี และ สวีเดน เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีอัตราค่าจ้างแรงงานสูง และมีการจ่ายเงินภาษีในอัตราสูง จึงได้รับการดูแลผ่านสวัสดิการอื่น ๆ อยู่แล้ว ขณะที่นโยบายการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในไทยมักเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นที่ถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง โดยฝ่ายสนับสนุนชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการบริโภค ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับแรงงานผู้มีรายได้น้อย ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราค่าจ้างไม่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของแรงงาน อีกทั้ง ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ตันทุนของการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับลดการจ้างงานลงโดยใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน ลดกำลังการผลิตลง หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจต้องเลิกกิจการ ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงานเองในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายค่จ้างขั้นต่ำเป็นครั้งแรกในปี 2516 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่วนกลางซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และควบคุมการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งปี 2541 ได้เปลี่ยนกฎระเบียบเป็นการกระจายอำนาจ โดยให้คณะกรรมการระดับชาติเป็นผู้กำหนดตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำเบื้องตัน ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการในระดับจังหวัดเป็นผู้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในแต่ละจังหวัดอย่างไรก็ตาม ในปี 2556 มีการยกเลิกกณฑ์การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้ และกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 300 บาท ในทุกจังหวัด ซึ่งตามหลักการอาจส่งผลให้เกิดการว่างงานในจังหวัดที่ด้อยพัฒนา เนื่องจาก นายจ้างบางพื้นที่ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดได้ ต่อมาในปี 2560 และ 2561 ได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก โดยใน 2 ครั้งนี้มีการปรับค่าจ้างแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด โดยมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 308-330 บาท

แม้ที่ผ่านมาการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นการคุ้มครองทางสังคมที่มีความสำคัญ เพราะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และครอบคลุมทั่วถึงแรงงานทุกภาคส่วนจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และจะมีผลบวกสะท้อนกลับมายังการขยายตัวของรายได้รวมของประเทศได้ในที่สุดแต่รัฐบาลควรมีมาตรการทางการเงิน หรือมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ( Small and Medium Enterprises ) ให้สามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศมีความผันผวน ไม่แน่นอน ที่อาจเป็นปัญหากระทบต่อผู้ประกอบการ ตลอดจนตัวผู้บริโภค นอกจากนี้รัฐบาลยังจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับความสามารถของแรงงานในการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

ภาพปก