การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กับรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1982 ที่เกิดจากแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม และความสัมพันธ์ของเนื้อหาด้านสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ 2) ศึกษาสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนตามรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยวิธีการค้นคว้าจากเอกสารสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเป็นไปตามองค์ประกอบแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมครบทั้ง 4 ข้อ คือ 1) ทฤษฎีสัญญาประชาคม 2) หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 3) หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย และ 4) หลักนิติรัฐ ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1982 กำหนดให้จีนปกครองตามระบบสังคมนิยม มีที่มาและเนื้อหาตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมจำนวน 2 ข้อ คือ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐ ส่วนความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญด้านสิทธิเสรีภาพกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติเนื้อหาการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครบ 30 ข้อ ปรากฏในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นหมวดหลัก และยังได้บัญญัติในหมวดอื่นคือ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1982 ได้บัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สัมพันธ์กับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจำนวน 27 ข้อ ในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่พื้นฐานของพลเมืองรวมถึงหมวด 1 หลักการทั่วไป และหมวด 3 องค์กรแห่งรัฐ ได้กำหนดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในหมวด 1 หลักการทั่วไปเป็นหลัก ทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพที่ไม่ได้บัญญัติตามปฏิญญาสากลอยู่ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองทั้ง 3 ข้อ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยมีเนื้อหาที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญในระบอบสังคมนิยม
สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในประเทศไทยพบว่า ในภาพรวมมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้น ได้ดำเนินการตามกรอบการปฏิรูปประเทศและกฎหมายหลายด้าน แต่มีสถานการณ์ที่น่ากังวลคือ สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การค้ามนุษย์ เสรีภาพในการแสดงออก และการคุ้มครองนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนสถานการณ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นว่ามีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการสื่อสารโดยเฉพาะด้านการเมือง การละเมิดการนับถือศาสนา การปราบปรามชนกลุ่มน้อย และการควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาคือ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานให้กับประชาชน แต่ปัญหาที่พบเกิดจากการยังมิได้บังคับใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐยังขาดความรู้ความใจด้านสิทธิเสรีภาพ สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยคือ 1) ควรพิจารณาปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีเพื่อเป็นกลไกการทำงานตามรัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2) ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3) ดำเนินการติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th