อินโฟกราฟิก เรื่อง พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475

อินโฟกราฟิก เรื่อง พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
ผู้แต่ง :
ใหม่ มูลโสม
จำนวนหน้า :
1
ปีที่พิมพ์ :
2564

 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475

ประวัติความเป็นมา​

  • วันที่ 24 มิถุนายน 2475 "คณะราษฎร" ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ​
     
  • วันที่ 26 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้แทนคณะราษฎรนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย​
     
  • เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัย ​ โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า "ชั่วคราว" เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎร ไม่ตรงกับพระประสงค์ของพระองค์ จึงทรงลงพระปรมาภิไธย ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475


สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม​

  1. อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎร​
  2. มีการแบ่งผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
  3. สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ ดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลได้​
  4. คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา​


การสิ้นสุด​

  • พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ถูกยกเลิกเนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มีระยะเวลาในการใช้บังคับ 5 เดือน 12 วัน​


เกร็ดเล็ก ๆ เกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475​

  • นายศัลก์ ศาลยาชีวิน ได้เขียน “เสี้ยวหนึ่งแห่งความประทับใจ ในเกียรติประวัติของพ่อ”ในอนุสรณ์งานศพของนายชุบ ศาลยาชีวิน ผู้เป็นบิดาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่คุณพ่อพิมพ์มันด้วยมือของท่านเอง ในเรือจ้างกลางลำน้ำเจ้าพระยา โดยท่านปรีดีเป็นผู้บอกร่างให้ในรูปกฎข้อบังคับของสมาคม”​

(ธรรมบรรณาการ งานพระราชทานเพลิงศพ นายชุบ ศาลยาชีวิน ณ เมรุวัดยาง พระโขนง 18 ธันวาคม 2526)​

  • สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ถึงเหตุการณ์ที่ผู้แทนคณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังศุโขทัย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ความว่า​

​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ “จนวันรุ่งขึ้นตอนเย็น ฉันจำไม่ได้แน่ว่ามีใครบ้าง ก็มาเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาที่เขามากัน ก็มีรถถังมาสัก 4-5 คันเห็นจะได้จอดอยู่หน้าวัง”​
​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ในกรณีที่ได้ล่วงละเมิดทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน​
​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงต่อว่าต่อขานคณะราษฎร ในเรื่องคำประกาศเมื่อวันปฏิวัติซึ่งมีถ้อยคำรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระองค์และพระบรมราชวงศ์จักรี คณะราษฎรก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานขมาโทษ…”​

(พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7. ธัม วศินเกษม; รัตนา ไศลทอง; สุดารัตน์ สิงหโกวินท์. สถาบันพระปกเกล้า. 2545.) ​ ​

อ่านเพิ่มเติม​
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
 

หมวดหมู่อินโฟกราฟิก :