แอปพลิเคชันเทเลเฮลธ์สำหรับการคัดกรองเบื้องต้นก่อนพบแพทย์

ผู้เรียบเรียง :
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือสถานรักษาพยาบาล (เทเลเฮลธ์ : Telehealth) ในยุค 4G นำมาซึ่ง “แอปพลิเคชันเทเลเฮลธ์” ที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟนสามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ติดต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อขอรับบริการการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ทำให้แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19)ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ร้อยเรื่องเมืองไทยจึงขอเสนอตัวอย่างของแอปพลิเคชันเทเลเฮลธ์ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ใช้บริการ มีดังนี้ 

ใกล้มือหมอ จัดทำขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใกล้มือหมอเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นและแสดงผลของโรคที่มีความเสี่ยง 3 อันดับแรก มีความแม่นยำประมาณร้อยละ70-80 โดยใช้ระบบอัลกอริทึม (Algorithm) ในการประมวลผลจากรูปแบบการซักประวัติทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีการรวบรวมอาการที่พบบ่อยในคนทั่วไปมากถึง 123 อาการ และมีจำนวนโรคให้ค้นหามากกว่า 1,000 โรค ซึ่งในแต่ละโรคมีคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับโรคนั้น ๆ จากรายการพบหมอศิริราชและสถาบันการแพทย์ที่น่าเชื่อถือหลากหลายสถาบันเมื่อนำมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถใช้เพื่อตรวจคัดกรองอาการเบื้องต้นในกรณีที่มีแนวโน้มติดเชื้อพร้อมแนวทางการดูแลตัวเองโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและรายชื่อโรงพยาบาลที่สามารถทำการตรวจเชื้อ PCR ของโควิด-19 ได้ทันที

DDC-Care (ดีดีซี-แคร์) ได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดต่ออันตรายทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน กรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบเพื่อให้คำแนะนำและให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ รวมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยงจากการติดตามรายงานการเดินทางและเส้นทางการเดินทางของผู้ใช้แอปพลิเคชัน ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 แต่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง และ กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสองกลุ่มนี้จะได้รับการแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน DDC-Care อย่างไรก็ตาม ดีดีซี-แคร์มีการจำกัดการใช้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงข้างต้นเท่านั้น อันเนื่องมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัยและการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกติดตามอาการ 

Diamate (ไดอะเมท) ได้รับการพัฒนาจากภาคเอกชนให้เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านร่วมกับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะรุนแรงหากติดเชื้อโควิด–19 ซึ่งในช่วงนี้จำเป็นต้องดเว้นจากสถานที่ที่มีความแออัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเพื่อหลีกเลี่ยงกับการรับเชื้อไวรัสจากกลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการในสถานที่เดียวกัน โดยแอปพลิเคชันจะให้คำแนะนำด้านโภชนาการ/การปฏิบัติตัวในแต่ละวัน รวบรวมสถิติการบริโภคอาหาร และเก็บข้อมูลระดับน้ำตาล/การใช้ยาเพื่อให้แพทย์ได้ทราบ ส่งผลให้การวางแผนการรักษาและการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้แอปพลิเคชันยังสามารถเชื่อมต่อกับผู้ป่วยที่มีเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ทำให้แพทย์สามารถติดตามระดับน้ำตาลของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์และพร้อมแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที 

ZeekDoc (ซีคด็อก) ได้รับการพัฒนาจากภาคเอกชนให้เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถค้นหาและนัดหมายแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่ออกตรวจในโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกใกล้บ้าน สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการรอคิวตรวจที่ยาวนาน สามารถค้นหาแพทย์เฉพาะทางในอนุสาขาที่ตรงกับโรคที่ต้องการรักษาและอยู่ใกล้บ้านมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในคนไข้ที่มีประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นของบริษัทหรือส่วนตัวสามารถใช้สิทธิเบิกกับโรงพยาบาลได้โดยตรงรวมไปถึงคนไข้จากต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามารักษาในกรุงเทพฯเพราะไม่ทราบว่ามีแพทย์เฉพาะทางที่มีความสามารถออกตรวจอยู่ในพื้นที่นั้นหรือจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไกลและประสบปัญหาการรอคิวที่ยาวนานในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพ ฯ สามารถค้นหาแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้านและเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้

ประชาชนสามารถดาวน์โหลดสี่แอปพลิเคชันข้างต้นผ่านทางสมาร์ตโฟนทั้งระบบแอนดรอยด์ (Android) และ ไอโอเอส (IOS) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ต้องการผ่านทางระบบออนไลน์และร่วมเป็นหนึ่งในการตอบรับนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาล กล่าวคือการเดินทางออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงการติดและการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19
 

ภาพปก