รางวัลซีไรต์

ผู้เรียบเรียง :
ปรียานุช คลอวุฒิวัฒน์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเชียน หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า "รางวัลชีไรต์" (S.E.A. Write) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านว่าเป็นรางวัลทางด้านงานเขียนที่ทรงคุณค่าของอาเซียนในแต่ละปี โดยจะมอบให้แก่กวี และนักเขียนในประเทศสมาชิกอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 10 ประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมนักเขียนในกลุ่มประเทศอาเชียนและเผยแพร่วัฒนธรรมด้านวรรณกรรมของภูมิภาคนี้ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและสร้างสัมพันธภาพอันดีในหมู่นักเขียนและประชาชนทั่วไปในประเทศอาเซียน รางวัลนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2522 โดย เคิร์ท ว้าชไฟท์ล ชาวเยอรมัน เจ้าของกิจการและผู้จัดการโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ร่วมปรึกษากับ บริษัท การบินไทย และกลุ่มบริษัทในเครืออิตัลไทย เพื่อจะจัดตั้งรางวัลวรรณกรรมนี้ขึ้น โดยคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ ได้จัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตร ทรงเป็นองค์ประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล นางสุภาว์ เทวกุล นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติเศรษฐบุตร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเมื่อแรกก่อตั้งนั้นอาเซียนยังมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย คณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดกฎเกณฑ์การคัดเลือกวรรณกรรมของไทยขึ้น แล้วได้เดินทางไปเจรจากับกลุ่มนักเขียนในประเทศอาเซียนอีก 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการรางวัลซีไรต์ โดยองค์กรนักเขียน หรือองค์กรวรรณกรรมของแต่ละชาติ กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาวรรณกรรมของตน จากนั้นส่งชื่อนักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมที่ได้รับรางวัล 1 คนมายังประเทศไทยเพื่อรับรางวัลพร้อมกัน ต่อมา ในปี 2529 บรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามเข้าร่วมในปี 2539 ลาวและพม่าเข้าร่วมในปี 2541และกัมพูชาเข้าร่วมหลังสุดในปี 2542

สำหรับวรรณกรรมไทยที่เข้ากฎเกณฑ์การเลือกสรรให้ได้รับรางวัลนี้ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
    1. เป็นงานเขียนภาษาไทย
    2. เป็นงานริเริ่มของผู้เขียนเอง มิใช่งานแปลหรือแปลงจากของผู้อื่น
    3. ขณะส่งเข้าประกวดผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่
    4. เป็นงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยมีเลขประจำหนังสือสากล (ISBN) ย้อนหลังไม่เกินสามปีก่อนวันสิ้นกำหนดส่งผลงาน
    5. งานที่เคยได้รับรางวัลอื่นในประเทศไทยมาแล้วสามารถส่งเข้าพิจารณาอีกได้
    6. วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลนั้นจะประกอบด้วยวรรณกรรม 3 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ นวนิยาย กวีนิพนธ์ และรวมเรื่องสั้น การให้รางวัลนั้นจะพิจารณาตามประเภทรณกรรมสลับกันไปทุกปี โดยเริ่มต้นจากปีแรกเป็นประเภทนวนิยาย ปีถัดไปเป็นกวีนิพนธ์ และปีถัดไปจะเป็นเรื่องสั้น ซึ่งจะวนกันไปตามลำดับเช่นนี้ทุกปี

โดยรางวัลซีไรต์ที่ประเทศไทยได้รับในครั้งแรกปี 2522 คือ นวนิยาย เรื่อง "ลูกอีสาน" ของ คำพูน บุญทวี และล่าสุดในปี 2560 ที่ผ่านมาคือ รวมเรื่องสั้น เรื่อง "สิงโตนอกคอก" ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

พิธีมอบรางวัลซีไรต์นี้เป็นรางวัลวรรณกรรมในระดับภูมิภาคซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี โดยประเทศสมาชิกทั้งหมดที่ได้รับรางวัลจะมาร่วมรับรางวัลพร้อมกัน ถือว่าเป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวอาเซียนอย่างมาก และโดยเฉพาะในปี 2561 นี้ จะเป็นปีที่รางวัลซีไรต์มีอายุครบรอบ 40 ปี ด้วย

ภาพปก